มธ.รังสิต 10 มี.ค.- มธ. เปิดตัว หน้ากากผ้าสะท้อนละอองน้ำ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ทดลองใช้ที่โรงพยาบาลศูนย์ธรรมศาสตร์ฯ แก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย ตั้งเป้าผลิต 1,000 ชิ้น ให้บุคลากรในสังกัด ไม่ได้มุ่งหวังทำเพื่อการพาณิชย์
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) เป็นประธานแถลงข่าว “เปิดตัว หน้ากากผ้าคุณสมบัติพิเศษสะท้อนละอองน้ำ เพื่อบุคลากรทางการแพทย์”
โดยงานนี้เกิดขึ้นโดยสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดตั้ง คณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19(COVID-19) ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของประชาคมธรรมศาสตร์ และหน่วยงานภายนอก เช่น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และ ประธานคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) กล่าวว่า แม้สถานการณ์การแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทย จะอยู่ในเฟส 2 แต่ปัจจุบันการบริหารวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะ หน้ากากอนามัย กลับขาดแคลนจำนวนมากจากความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทั่วประเทศที่สูงกว่า 30-40 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งสวนทางกับกำลังการผลิตของภาคโรงงานรวม 10 โรง ที่สามารถผลิตได้ประมาณ 30 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งไนส่วนของโรงพยาบาลธรามศาสตร์ฯ ช่วงที่ผ่านมายอมรับว่าหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในระดับที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ตอนนี้ยอมรับว่าสถานการณ์ดีขึ้นในระดับหนึ่ง เพราะมีประชาชนได้บริจาค หน้ากากอนามัยมาเป็นจำนวนมาก แต่ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ต้องประเมินภายใต้วิกฤติการแพร่ระบาด จำนวนที่มีแม้จะเพียงพอในระยะนี้แต่ถ้าหากยังไม่มีการจัดการที่ดีจากหน่วยงานภาครัฐก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนได้ขึ้นอีก
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายหรือติดเชื้อ และลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use)ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และภาคประชาชน ที่หลายหน่วยงานแนะนำให้เลือกใช้หน้ากากผ้าทดแทนหน้ากากอนามัยแต่คุณสมบัติของหน้ากากผ้าทั่วไปจะสามารถดูดซับน้ำได้ดี ซึ่งรวมถึงสารคัดหลั่งด้วย จึงมีโอกาสที่อาจจะติดเชื้อได้ง่ายไม่ว่าจะเป็น COVID-19 หรือว่าไข้หวัดปกติทั่วไป คณะทำงานจึงได้ศึกษาวิจัย คุณสมบัติผ้าที่เหมาะสม พัฒนาเป็น “หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์” ผลิตจากวัสดุผ้าสะท้อนน้ำ ไม่ดูดซับความชื้น และช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อ
น.ส.ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. (SCI-TU) กล่าวเสริมว่า “หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์” นั้น เป็นการประยุกต์ใช้โครงสร้างผ้าที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ และเหมาะใช้เป็นวัสดุทำหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่งเบื้องต้น ผ้าที่ใช้ชื่อว่า “Cotton-Silk” หรือผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์ นอกจากนี้ บริษัทผู้ผลิต ยังใช้เทคโนโลยีสะท้อนน้ำ ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอนสามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้า ไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้า มีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง ลักษณะที่ทำในเวลานี้จะเป็นการนำเนื้อผ้าสองชิ้นมาประกบติดกันและมีผ้าฝ้ายรองด้านหลังบริเวณจุดที่ต้องสัมผัสกับใบหน้าอีกหนึ่งชั้นเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว และในอนาคตจะมีการทดลองด้วยการนำฟิวเตอร์กรองฝุ่นมาใส่ตรงกลางอีกชั้น เพื่อใช้สำหรับเป็นหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย
ซึ่งทางคณะทำงานฯ กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน และความคงทนของเส้นใย ว่ายังคงประสิทธิภาพเดิมหรือไม่ เมื่อนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้ามาตรฐานทั่วไป ซึ่งตามที่บริษัทผู้ผลิตระบุ บอกว่าสามารถซักซ้ำได้ 20-30 ครั้ง แต่ยังไม่อยากยืนยัน ต้องรอการทดสอบว่าจำนวนครั้งที่ผู้ผลิตระบุต้องซักด้วยวิธีการใดและส่งผลต่อประสิทธิภาพการกันน้ำของผ้าขนาดไหน เบื้องต้นขณะนี้จากการทดสอบการซักทำความสะอาดซ้ำทำได้อย่างน้อย 5 ครั้ง คาดว่าภายในสัปดาห์นี้น่าจะทราบผลทดสอบว่าสามารถนำไปซักทำความสะอาดเพื่อนำมาใช้ซ้ำได้จำนวนเท่าไหร่
สำหรับต้นทุนการผลิตหน้ากากทางเลือกหนึ่งชิ้นจะอยู่ที่ 25 – 30 บาท หากเทียบกับการนำไปซักและนำกลับมาใช้ซ้ำ จำนวนต่ำสุดที่ 5 ครั้ง ก็ถือว่าราคาถูกมาก สำหรับการนำไปใช้เบื้องต้นจะนำไปทดลองใช้ที่โรงพยาบาลศูนย์ธรรมศาสตร์ฯ ใช้สำหรับการตรวจทั่วไปหรือใช้กับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ประจำตามจุดคัดกรองต่างๆไม่สามารถใช้ภายในห้องผ่าตัดได้ โดยในขั้นนี้ตั้งเป้าจะผลิตออกมาทดลองใช้ 1,000 ชิ้นเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในสังกัด ไม่ได้มุ่งหวังทำเพื่อการพาณิชย์
และในเร็วๆนี้ก็จะประสานติดต่อไปกับหน่วยงานภาครัฐที่มีความสนใจนำไปวิเคราะห์ต่อยอดในการผลิตเพื่อนำไปแจกจ่ายหรือนำไปจำหน่ายให้กับประชาชนอีกครั้ง ส่วนประชาชนที่สนใจอยากจะนำไปทดลองใช้ตอนนี้มีบริษัทในประเทศไทยที่ผลิตเนื้อผ้าตัวนี้ออกมาจำหน่ายสามารถติดต่อไปได้โดยตรงที่บริษัทเนื่องจากผ้าในลักษณะนี้ยังไม่มีขายทั่วไปตามท้องตลาด
หรือมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กองกิจการนักศึกษา โทรศัพท์ 02-564-2924 , 02-564-4408 และสำหรับผู้ที่สนใจวิธีการตัดเย็บหน้ากากผ้า เพื่อทดแทนกับหน้ากากอนามัยในช่วงที่ขาดแคลน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ScienceThammasat/posts/2200214250082114 .-สำนักข่าวไทย