กรุงเทพฯ 3 มี.ค. – มองทองคำไทยมีโอกาสแตะ 25,000 บาท เร็ว ๆ นี้ หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่หยุดลุกลาม ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจ ควรเน้นประคับประคองก่อนในช่วงต้น ก่อนคิดถึงมาตรการกระตุ้นในระยะต่อไป
นายสัญญา หาญพัฒนกิจพานิช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก มองสถานการณ์ราคาทองคำขณะนี้ว่า ยังถือว่าเป็นขาขึ้นอยู่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ว่าจะมีบางช่วงที่ราคาทองคำในตลาดโลกจะลดลงมาบ้างก็ตาม โดยมองแนวรับหลัก ๆ ที่ไม่ควรหลุดเลย คือ 1,515 เหรียญต่อออนซ์ ถ้าราคาทองในตลาดโลกต่ำกว่าระดับดังกล่าวจะถือว่าขาขึ้นรอบใหญ่ของทองคำหมดไปแล้ว
สำหรับแนวคิดการลดดอกเบี้ย หากเกิดขึ้นจริง จะเป็นผลดีต่อราคาทองคำ หากย้อนกลับไปตอนวิกฤติซับไพร์ม จะพบว่าเมื่อมีการปรับลดดอกเบี้ย ตลาดหุ้นขึ้น และทองคำราคาขึ้นด้วย ที่สำคัญมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังมีกระสุนให้ใช้อีกไม่น้อย เพราะดอกเบี้ยสหรัฐขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.75 ยังมีช่องว่างให้ใช้นโยบายลดดอกเบี้ยได้อยู่ ดังนั้น ทองคำจึงถือว่ายังมีปัจจัยหนุนอยู่
“โอกาสที่ราคาทองจะลงไปที่ 22,500 บาทต่อบาททองคำ ก็มีโอกาสจะเป็นไปได้ แต่ไม่ควรต่ำกว่านี้ ส่วนแนวต้าน 25,000 บาทต่อบาททองคำ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะขึ้นไปทดสอบที่ระดับดังกล่าวได้เช่นกัน โดยปัจจัยสำคัญ คือ โควิด 19 ถ้าสถานการณ์ระบาดยังมีในประเทศอื่น ๆ ก็มีโอกาสที่ราคาทองคำอาจจะขึ้นไปทดสอบที่ 25,000 เร็ว ๆ นี้” นายสัญญา กล่าว
ทั้งนี้ ราคาทองคำล่าสุด (12.00 น.) ที่ประกาศโดยสมาคมค้าทองคำ ทองคำแท่งขายออกบาทละ 23,900 บาท และทองคำรูปพรรณขายออกที่บาทละ 24,400 บาท
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย คาดการณ์ว่าผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 1-2 ไตรมาส อาจจะตัวเลขจีดีพีชะลอตัว ตัวเลขการท่องเที่ยวชะลอลง การส่งออกก็ชะลอตัว การบริโภคก็จะลดลง แต่เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยระยะสั้น ขณะนี้เริ่มเห็นการฟื้นตัวของธุรกิจจีนบ้างแล้ว เชื่อว่าจะมีทางออกและฟื้นตัวได้ในที่สุด ซึ่งที่ต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวจะเป็นรูปแบบใด ส่วนใหญ่เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น เป็นตัว V แต่ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อ การฟื้นตัวอาจจะไม่เร็วนัก สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันออกแบบให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับมาตรการการเงิน เช่น การลดดอกเบี้ย แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดการกู้ยืมเพิ่มขึ้น แต่อย่างน้อยก็จะลดภาระทางการเงิน และช่วยทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ซึ่งจะมีผลบวกต่อการส่งออกของประเทศในที่สุด ขณะที่มาตรการการคลัง จะเป็นส่วนสำคัญขณะนี้ โดยมองว่าควรเป็นลักษณะการประคองเศรษฐกิจระยะเริ่มต้น ก่อนจะใช้มาตรการกระตุ้นในช่วงต่อไป
“ตัวอย่างของการใช้มาตรการประคองเศรษฐกิจ เช่น 1.โครงการงานแลกเงิน แทนที่จะแจกเงิน เปลี่ยนเป็นการสร้างงานให้คนทั่วประเทศ แล้วมีค่าจ้างให้ จะเกิดผลทั้งทางเศรษฐกิจและความภาคภูมิใจ 2. คือ การเสริมสภาพคล่อง เพราะหากเอสเอ็มอีขาดเงินทุนอาจจะล้มได้ 3.หนุนการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ให้ลงไปในระดับชุมชน กระจายไปให้ได้มากที่สุด และ 4.ใช้มาตรการลดภาษีให้กับบุคคลธรรมดา เพื่อลดค่าใช้จ่าย และมนุษย์เงินเดือนเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย” นายอมรเทพ กล่าว – สำนักข่าวไทย