กรุงเทพฯ 20 ก.พ. – อุตสาหกรรมหนักได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ลดกำลังผลิต ส่งผลความต้องการใช้ก๊าซฯอุตสาหกรรมหดตัว BIG ปรับตัวส่งเสริมลูกค้าใช้ก๊าซฯ เพื่อ นวัตกรรมลดใช้พลังงาน-รีไซเคิลน้ำ
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส หรือ บีไอจี ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายก๊าซอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภาคการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ มีความต้องการใช้เหล็ก ลดน้อยลง โรงงานหนักต่างๆจึงลดกำลังผลิต แนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซฯเพื่ออุตสาหกรรมจึงมีทิศทางลดลง โดยในปี 2562 เปรียบเทียบกับปี 2561 ลดลงร้อยละ 5 ดังนั้น ทางบริษัท จึงต้องปรับตัวนำเสนอการพัฒนานวัตกรรมแก่ลูกค่า ทั้งการนำก๊าซฯ ไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน และการรีไซเคิลน้ำทิ้งให้นำกลับมาใช้ใหม่ โดยบริษัทตั้งเป้าว่า นวัตกรรมเหล่านี้จะทำให้บริษัทยังคงมีรายได้เติบโตราวร้อยละ 10 ต่อปี จากปีที่ 2562 มีรายได้ราว 6,000 ล้านบาท/ปี โดยธุรกิจนวัตกรรมนี้จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 40 ใน 5 ปีข้างหน้า
สำหรับโครงการรีไซเคิลน้ำทิ้งนั้น เรียกว่า เป็นระบบ Waste water management โดยการใช้ก๊าซออกซิเจน เติมน้ำทิ้งจากโรงงาน โดยจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรีไซเคิลน้ำ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ร้อยละ 20 – 30 แนวทางนี้จะเป็นการรับมือกับวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้น งบลงทุนแต่ละโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 10 – 20 ล้านบาท ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยจะมีราคาถูกกว่าระบบการกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดที่มีราคาสูงถึงกว่า 100 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ร้อยละ 20 – 30 แต่เมื่อเทียบกับราคาน้ำดิบแล้วยังมีราคาสูงกว่าเพราะราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ ได้มีการเสนอโครงการกับกลุ่ม ปตท. เครือซิเมนต์ไทย (SCG) เครืออินโดรามา ซึ่งมีโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง
“ความคืบหน้า Waste water management ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองประสิทธิภาพ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1 – 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะสอดรับกับช่วงเวลาเดียวกับน้ำแล้งสูงสุด ในช่วงเดือนพฤษภาคมของปีนี้ ซึ่งการลงทุนแม้จะเพิ่มขึ้นบ้างแต่ก็จะเป็นการรองรับภัยแล้งที่อาจจะมียาวนานต่อเนื่องในอนาคต” นายปิยบุตร กล่าว
ส่วนนวัตกรรมนำก๊าซฯไปประหยัดพลังงานนั้น จะเป็นการนำออกซิเจน ไปใช้อุตสาหกรรมกระจก เหล็ก อุตสาหกรรมขึ้นรูปต่างๆ ซึ่งออกซิเจนจะช่วยทำให้ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเล็งไปถึงการนำก๊าซฯไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาอีกด้วย
สำหรับกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมของบีไอจีทั้งอยู่ในระหว่างดำเนินการพัฒนา และเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.1 ล้านตัน / ปี เช่น โครงการโรงผลิตก๊าซอุตสาหกรรมแห่งใหม่ (LNG ASU) ขนาดกำลังการผลิตไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน 450,000 ตันต่อปี ที่นิคมฯมาบตาพุด มูลค่าลงทุน 1,500 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จในปี 2564 (เมษายน) โครงการโรงงานผลิตก๊าซอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมฯอมตะซิตี้ ระยอง (ABIG: บริษัท อมตะ บีไอจี อินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด) ขนาดกำลังการผลิต 50,000 ตัน/ปี มูลค่าลงทุน 200 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จในปี 2562 ,โครงการในเมียนมา โรงผลิตก๊าซฯ ในนิคม ติลาวา ลงทุน 500 ล้านบาท จะเริ่มผลิต เดือน เม.ย. 63 กำลังการผลิต 40,000 ตัน/ปี คาดการณ์รายได้ประมาณ 100 ล้านบาท/ปี โดยจะส่งให้ทั้ง โรงงานอุตสาหกรรม และกลุ่มโรงพยาบาลของไทยที่เข้าไปลงทุน เช่น รพ.บำรุงราษฎร์ รพ.ธนบุรี เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย