กรุงเทพฯ 18 ก.พ. – กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดมาตรการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง ห้ามเกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์ไม่รู้แหล่งปลูกเด็ดขาด ล่าสุดหยุดการระบาดได้แล้ว 6 จังหวัด ลดผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของไทย
นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สามารถหยุดวงจรโรคใบด่างมันสำปะหลังได้แล้ว 6 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มหาสารคาม ระยอง และศรีสะเกษ โดยยังคงเหลือพื้นที่ระบาด 55,560.94 ไร่ ใน 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี ลพบุรี สระแก้ว สุรินทร์ และอุบลราชธานี คิดเป็น 0.66% ของพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งประเทศ 8.43 ล้านไร่ เป็นผลจากมาตรการควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลังที่ทำอย่างต่อเนื่อง 4 แนวทาง คือ สำรวจ ชี้เป้า ทำลาย และชดเชย สิ่งสำคัญ คือ การทำลายต้องถูกต้องตามหลักวิชาการ ได้แก่ วิธีฝังกลบ โดยฝังกลบต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคและต้นข้างเคียงโดยรอบในหลุมที่ลึกไม่น้อยกว่า 50 ซม. ราดด้วยสารกำจัดวัชพืช อะมีทรีน 80% WG ซัลเฟนทราโซน 48% SC ไดยูรอน 80% WP อย่างใดอย่างหนึ่งก่อน วิธีใส่ถุง/กระสอบ ดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคตัดเป็นท่อนใส่ถุง/กระสอบมัดปากให้แน่นแล้วนำไปตากแดดไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือจนกว่าต้นมันสำปะหลังจะตาย วิธีบดสับโดยนำต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรคเข้าเครื่องบดป่นหรือเครื่องสับย่อย โดยปูพลาสติกรองพื้นให้เศษต้นที่ถูกทำลายอยู่บนพลาสติก แล้วคลุมกองด้วยพลาสติกตากแดดให้ต้นมันสำปะหลังแห้งตาย
สำหรับโรคใบด่างมันสำปะหลัง สาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส Cassava mosaic virus ซึ่งเป็นโรคที่มีความสำคัญ หากระบาดรุนแรงอาจทำให้ผลผลิตเสียหายได้ถึง 100 % จึงสั่งการเจ้าหน้าที่ให้ทุกพื้นที่ที่ปลูกมันสำปะหลังย้ำเตือนเกษตรกรไม่ให้ใช้ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคซ้ำเด็ดขาด รวมถึงไม่ใช้ท่อนพันธุ์ที่ไม่รู้แหล่งที่มา เกษตรกรต้องหมั่นสำรวจแปลงอยู่เสมอ หากพบใบมีอาการด่างให้แจ้งเกษตiอำเภอ/เกษตรจังหวัดทันที
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการป้องกันและกำจัดโรคใบด่างมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรคที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาคอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของประเทศ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตรส่งเจ้าหน้าที่สำรวจและชี้เป้าพื้นที่ระบาดแล้วกำจัดต้นมันสำปะหลังที่เป็นโรค ซึ่งมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะ พร้อมชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ได้รับผลกระทบในอัตราชดเชยไร่ละ 3,000 บาท ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ท่อนพันธุ์สะอาด ควบคุมการนำเข้าท่อนพันธุ์จากต่างประเทศและการขนย้ายท่อนพันธุ์ภายในประเทศ รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเพื่อป้องกันกำจัดโรคใบด่าง
จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยศูนย์ประเมินผลได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทราซึ่งสามารถควบคุมสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ได้แล้ว โดยจังหวัดชลบุรีมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 162,860.75 ไร่ พบพื้นที่ระบาด จำนวน 135 ไร่ในอำเภอศรีราชา โดยเป็นพื้นที่ของเกษตรกร 8 ราย การจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่เกษตรกรจะพิจารณาอนุมัติเงินชดเชยโดยคณะอนุกรรมการฯ ระดับจังหวัดซึ่งคาดว่า จะได้รับเงินชดเชยภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนพื้นที่ระบาดที่เหลือนั้นอยู่ในกระบวนการอนุมัติการทำลายของคณะทำงานฯ ระดับอำเภอ สำหรับจังหวัดฉะเชิงเทรามีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 141,753 ไร่ พบพื้นที่ระบาด 1,115 ไร่ ในอำเภอสนามชัยเขต และอำเภอพนมสารคาม เป็นพื้นที่ของเกษตรกร 69 ราย โดยพื้นที่ระบาดทั้งหมดได้มีการทำลายต้นมันตามหลักเกณฑ์การทำลายและแผนปฏิบัติการที่โครงการกำหนด
ส่วนจังหวัดที่ยังมีการระบาด สศก.จะติดตามสถานการณ์แก้ไขการระบาดอย่างต่อเนื่องถึงเดือนมีนาคมนี้ โดยเตรียมลงพื้นที่จังหวัดสระแก้วและนครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่ระบาดสูงและมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาที่ยังคงมีการระบาดของโรคอย่างรุนแรง โดยจะบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเฝ้าระวังและสำรวจแปลงของตนเองอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้เกษตรกรต้องใช้ท่อนพันธุ์สะอาดจากแหล่งปลูกที่ไม่พบโรคระบาดหรือการผลิตท่อนพันธุ์สะอาดใช้เองในชุมชนเพื่อตัดวงจรการระบาดอย่างเด็ดขาด.-สำนักข่าวไทย