ม.เกษตรฯ 30 ม.ค. – อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้านสัตว์ป่า ระบุยังไม่พบรายงานการพบเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวไทย เตรียมลงสำรวจวิจัยป้องกันการเกิดโรคอุบัติใหม่จากสัตว์ป่า
รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าค้างคาวในไทยมีประมาณ 140 ชนิด โดยนักวิจัยพบเชื้อไวรัสชนิดใหม่ในค้างคาวไทยกว่า 400 ชนิด แต่ยังไม่มีรายงานการแพร่เชื้อสู่คน รวมทั้งยังไม่เจอเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ในค้างคาวไทยแต่อย่างใด
ทั้งนี้นักวิจัยได้ทำการตรวหาเชื้อโรคอุบัติใหม่จากค้างคาวทุกๆ ปี ตั้งแต่มีรายงานว่าค้างคาวสามารถแพร่โรคอุบัติใหม่ได้ เช่น โรคซาร์ส จากค้างคาว ไปสู่อีเห็น–ชะมด และคน ค้างคาวแม่ไก่ ที่มีเชื้อนิปาห์ มีการติดต่อโดยตรงจากค้างคาวสู่คนในประเทศบังกลาเทศ หรือติดจากค้างคาว สู่หมู ถึงคน ที่มาเลเซีย รวมทั้งโรคอีโบลา ที่มาจากเชื้อไวรัสในค้างคาวบัวที่แอฟริกา
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และเป็นการวางแผนรับมือไวรัสโคโรนาจากสัตว์สู่คน ทีมนักวิจัยไทยที่ศึกษาไวรัส และโรคอุบัติใหม่ในค้างคาว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมลงพื้นที่เจาะเลือด และเก็บสารคัดหลั่งในค้างคาวสายพันธุ์มงกุฎ ซึ่งกระจายตัวและอาศัยอยู่ในถ้ำทั่วประเทศ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา โดยจะเริ่มทำการวิจัยสำรวจภายใน 1-2 เดือนนี้
ทั้งนี้ยืนยันว่ายังไม่เจอไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในค้างคาวไทย ซึ่งการสำรวจวิจัยที่จะเกิดขึ้นจะช่วยสร้างความกระจ่าง และนำไปสู่แผนการรับมือป้องกันอย่างทันท่วงที
สำหรับโรคจากค้างคาวจะนำมาสู่คน โอกาสน้อยมาก แต่ก็ไม่ควรนำค้างคาวมาทำอาหาร หรือจับมาเลี้ยงเล่นอย่างเด็ดขาด เนื่องจากอาจนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บอื่นๆ ตามมาได้ทั้งจากปรสิต หรือพยาธิที่อยู่ในสัตว์ป่าตามธรรมชาติ .- สำนักข่าวไทย