(เรื่องโดย ศิริพร กิจประกอบ : ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ สำนักข่าวไทย)
“ก่อนหน้านี้ คิดว่าต้องตายแบบสูญเปล่า ตายแบบไม่มีสัญชาติ ถูกเหยียดว่าเป็นต่างด้าวไปตลอดชีวิต แต่มาวันนี้ดีใจมากที่ได้บัตรประชาชน ได้เป็นคนไทยเต็มตัว ถึงตายก็ตายตาหลับแล้ว” ... “โซซูน เบก่ากู่” ผู้เฒ่าวัย 65 ปี เล่าให้ฟังเป็นภาษาอาข่า บนใบหน้าเปื้อนยิ้ม เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจเหมือนได้ของขวัญชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิต ตอนนี้เธอมีศักดิ์และสิทธิ์ได้รับสวัสดิการต่างๆเทียบเท่ากับคนไทยทั่วไป และยังมีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมญาติที่ประเทศจีนมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทางการจับกุม
“จางจ้า เบก่ากู่” ผู้เฒ่าชาติพันธุ์อาข่าวัย 84 ปี อีกคน ก็ดีใจไม่แพ้กัน โชว์บัตรประชาชนไทย และเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เพิ่งได้รับมาเป็นเดือนที่4 เธอบอกว่าหลังได้สัญชาติไทย ทำให้อุ่นใจและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เจ็บป่วยก็กล้าไปหาหมอ ไม่ต้องซื้อยากินเอง และไม่ต้องเป็นภาระลูกหลานเหมือนเมื่อที่ผ่านมา
นอกจากผู้เฒ่าทั้งสองคนนี้แล้ว ยังมีผู้เฒ่าชาติพันธุ์อาข่าอีก 13 คน ของหมู่บ้านกิ่วสะไต อ.แม่จัน จ.เชียงราย ที่ได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลจนได้สัญชาติไทยและมีบัตรประชาชน หลังจากที่รอคอยมายาวนานจนผู้เฒ่าบางคนในหมู่บ้านเสียชีวิตไปก่อนแล้ว ทั้งที่พวกเขาเป็น “ชาวเขาติดแผ่นดิน” ที่เกิดและอยู่ในเมืองไทยมาเนิ่นนาน ลูกและหลานต่างก็ได้สัญชาติไทยกันไปหมดแล้ว
ผู้เฒ่าบ้านกิ่วสะไต เป็นตัวอย่างที่มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา(พชภ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยผลักดันพัฒนาสิทธิจากการทำนโยบายพิเศษ(fast track) รวบรวมข้อมูลหลักฐานการอยู่ในพื้นที่ โดยอิงตามเอกสารสำรวจของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาและเอกสารอื่นๆ จนได้รับสัญชาติไทยและได้บัตรประชาชนภายใน 7 เดือน สำเร็จเป็นพื้นที่แรก แต่ก็ยังมีผู้เฒ่าไร้สัญชาติอีกหลายกลุ่ม ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือต้องอยู่ในสถานะไร้รัฐไร้สัญชาติ
เดินทางไปอีกไม่ไกล ในพื้นที่อำเภอเดียวกัน ที่บ้านเฮโก ต.ป่าตึง ยังมีผู้เฒ่าชาติพันธุ์ลีซู “ชาวเขาติดแผ่นดิน” อีกกลุ่ม ที่ลูกหลานของพวกเขาล้วนได้บัตรประชาชนไทยหมดแล้ว แต่ผู้เฒ่าหลายคนกลับตกหล่น แม้จะมีหลักฐานและพยานบ่งชี้ว่าพวกเขาเกิดและอาศัยอยู่ในเมืองไทยมาหลายสิบปี ตามที่ระบุในการสำรวจของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา แต่หน่วยงานทางการที่เข้ามาสำรวจในภายหลังกลับระบุว่าพวกเขาเกิดในพม่า ปัญหาเอกสารการสำรวจที่ขัดกัน จึงทำให้ผู้เฒ่าที่นี่ยังไม่ได้รับการพัฒนาสิทธิ
“เป็นผู้นำชุมชนแต่กลับถูกเรียกว่า“ต่างด้าว” เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด ทั้งที่เราก็มีหลักฐานชัดเจนว่าเกิดและอยู่อาศัยในไทยมานาน แต่ทางการไม่ยอมออกบัตรประชาชนไทยให้”
“อาเหล่ งัวยา” อายุ 81 ปี หนึ่งในผู้เฒ่าบ้านเฮโก ตัดพ้อด้วยความน้อยใจ ยืนยันตัวเองเกิดที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และย้ายมาอยู่ที่บ้านเฮโกนานแล้ว เขาเป็นผู้นำสอนศาสนา ดูแลวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ลีซู คนในหมู่บ้านต่างนับถือ การอยู่ในสถานะไร้สัญชาติ นอกจากไม่ได้รับสวัสดิการจากภาครัฐแล้ว การจะของบประมาณมาจัดกิจกรรมพัฒนาชุมชนก็ไม่สามารถทำได้
ไม่เพียงแต่กลุ่ม “ชาวเขาติดแผ่นดิน” เท่านั้น ที่ต้องเผชิญกับความล่าช้าในการพัฒนาสิทธิ ผู้เฒ่าชาติพันธุ์อาข่าอีก 28 คน ที่บ้านป่าคาสุขใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง ซึ่งอาศัยอยู่ในไทยมานานกว่า 50 ปี ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว และใบสำคัญถิ่นที่อยู่ มีคุณสมบัติครบและยื่นเอกสารขอแปลงสัญชาติไปกว่า 3 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้รับการพัฒนาสิทธิเช่นกัน ทั้งที่กฎหมายระบุว่าต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
“ครูแดง” นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา ซึ่งทำงานช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในภาคเหนือมากว่า 40 ปี บอกว่า ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นกลุ่มเปราะบางที่สุดในสังคม เนื่องจากศักยภาพทางร่างกายเสื่อมลง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เดินทางไปติดต่อราชการลำบาก ไม่มีความรู้เรื่องข้อกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิ อีกทั้งตัวผู้เฒ่าเอง รวมถึงลูกหลาน และเจ้าหน้าที่รัฐ มักคิดว่า“แก่แล้ว อยู่แต่ในหมู่บ้าน พูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่ต้องมีบัตรก็ได้” อีกทั้งยังมีอุปสรรคที่มาจากผู้นำชุมชนไม่ได้ใช้กฎหมายทำงาน และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีภาระงานเยอะ ไม่รู้กฎหมายคนไร้รัฐไร้สัญชาติซึ่งมีความซับซ้อน จึงไม่กล้า เกรงทำผิด และทัศนคติที่ยังมองว่าคนกลุ่มนี้ ไม่ใช่คนไทย
“เจ้าหน้าที่บางส่วนมักคิดว่า เอาไว้ทีหลังทำงานอื่นๆก่อน คนพวกนี้ไม่ใช่คนไทย และการเรียกรับผลประโยชน์ เนื่องจากปริมาณงานมีมาก เจ้าของปัญหาก็มีมาก เช่นในพื้นที่อำเภอชายแดนทั้งหลาย บางอำเภอมีเป้าหมาย30,000-50,000คน ขณะที่เจ้าหน้าที่มีเพียงไม่กี่คน นี่คือสภาพปัญหาที่น่าเป็นห่วง” “ครูแดง”สะท้อนถึงปัญหาที่ยังสั่งสมอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสนุทร นักวิชาการคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า กระทรวงมหาดไทยควรสำรวจจำนวนผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติและปัญหาที่ประสบอยู่ จะได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของความล่าช้าในการแปลงสัญชาติ เพราะกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ครอบคลุมเพียงพอแล้ว อีกทั้งควรปรับปรุงกฎหมายเพื่อการแปลงสัญชาติให้แก่ชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ที่อยู่อาศัยในไทยมานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยด้วยเช่นกัน
ปัญหาการรับรองสัญชาติไทยสำหรับ “ชาวเขาติดแผ่นดิน” ตามระเบียบ43 คือ ผู้ที่เกิดในไทยระหว่างวันที่ 10 เม.ย.2456 – วันที่ 13ธ.ค.2515 ให้สันนิษฐานว่ามีสัญชาติไทย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น คณะทำงานมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา และภาคีเครือข่าย เสนอว่าจำเป็นต้องมีนโยบายพิเศษ(Fast Track) เข้ามาช่วยเหลือ เช่น เปลี่ยนหลักเกณฑ์การแปลงสัญชาติของผู้เฒ่าจาก 65 ปี มาเป็น 60 ปี ตามพรบ.ผู้สูงอายุ การทดสอบความรู้ภาษาไทย ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย และร้องเพลงชาติ ควรมีการอนุโลมตามสรรพร่างกายและบริบทพื้นที่ของผู้สูงอายุแต่ละคน กำหนดให้ถือใบสำคัญต่างด้าว 5 ปี และต้องพิสูจน์ว่าอยู่ในไทย20 ปี หลักฐานการอยู่ในไทยไม่ควรกำจัดในเรื่องการถือใบถิ่นที่อยู่ เพราะมีจำนวนมากที่อาศัยกลมกลืนกับสังคมไทยมาไม่น้อยกว่า 40 ปี ส่วนการกำหนดให้ตรวจประวัติอาชญากรรม ควรปรับให้มีขั้นตอนที่ซับซ้อนน้อยลง
ทั้งนี้ประเทศไทยได้ให้คำมั่นกับ UNHCR ในการประชุมที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ว่าการแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติจะเป็นนโยบายที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ นี่จึงเป็นอีกความหวังที่ผู้เฒ่าไร้รัฐไร้สัญชาติจะได้รับการพัฒนาสิทธิให้มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการได้รับสิทธิด้านต่างๆ ในฐานะพลเมืองไทย เช่น สิทธิความเป็นพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิในการทำงาน สิทธิการเดินทาง และสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ฯลฯ ที่สำคัญผู้เฒ่าเหล่านี้จะไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังเหมือนที่ผ่านมา .-สำนักข่าวไทย