ภูมิภาค 7 ม.ค.-แล้งหนัก! หลายพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา แหล่งน้ำแห้งขอด ประชาชนหลายร้อยหมู่บ้านขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ต้องซื้อน้ำจากพ่อค้า ราคาถังละ 150 บาท เฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาท ส่วน จ.บึงกาฬ ประกาศภัยแล้ง 4 อำเภอ
หลายพื้นที่ของ จ.นครราชสีมา แหล่งน้ำแห้งขอด ประชาชนหลายร้อยหมู่บ้านมีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ที่บ้านใหม่สามัคคี ต.ช่องแมว อ.ลำทะเมนชัย ปริมาณน้ำแห้งขอด ชาวบ้านต้องซื้อน้ำจากพ่อค้าที่บรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำอื่น ในราคาถังละ 150 บาท ถังความจุ 2,000 ลิตร ใช้ในครัวเรือนเพียงแค่ 3 วันก็หมด มีค่าใช้จ่ายซื้อน้ำเฉลี่ยเดือนละ 2,000 บาท ชาวบ้านบอกว่าขาดแคลนน้ำใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ล่าสุดแหล่งน้ำที่สูบน้ำมาขายให้กับชาวบ้านเริ่มแห้งขอด คาดว่าจะไม่เพียงพอไปตลอดฤดูแล้งนี้
จ.บึงกาฬ ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว 4 อำเภอ ได้แก่ อ.โซ่พิสัย อ.ปากคาด อ.พรเจริญ และ อ.เมืองบึงกาฬ รวม 238 หมู่บ้าน เนื่องจากฤดูฝนหมดเร็วและฝนไม่ตกต่อเนื่อง พื้นที่เกษตรอยู่ไกลแหล่งน้ำ ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง อย่างไรก็ตาม โครงการชลประทานจังหวัดบึงกาฬมีอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ 53 แห่ง ปริมาณน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 75 คาดว่าเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคไปจนถึงต้นฤดูฝน ทั้งนี้ ได้เตรียมรถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำไว้ช่วยเหลือกรณีประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
เหนือสุดเขื่อนภูมิพล ที่ทะเลสาบดอยเต่า อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ผืนน้ำที่เคยกว้างใหญ่นับหมื่นไร่ ระดับน้ำแห้งขอดและยังลดลง เหลือแต่ร่องน้ำ จนทำให้ทะเลสาบกลายสภาพเป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ปกติน้ำจะแห้งช่วงเดือนเมษายน เรือนแพท่องเที่ยว เรือประมงที่ย้ายไม่ทัน ต้องจอดเกยตื้น ส่วนเรือย้ายทันได้ล่องเรือไปจอดไว้ในท้องน้ำที่ไกลจากจุดนี้ระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง อ.ลี้ จ.ลำพูน
ส่วน ต.วังดิน พื้นที่แล้งซ้ำซากของ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ปีนี้ภัยแล้งมาไว ชาวบ้านกว่า 1,200 ครัวเรือน เริ่มขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำดิบผลิตประปาในหมู่บ้านไม่เพียงพอ ทางจังหวัดต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกลจากอ่างเก็บน้ำห้วยสว่างใจ แหล่งเก็บกักน้ำฝนแห่งสุดท้ายของ ต.วังดิน ซึ่งมีปริมาณน้ำเหลือใช้งานร้อยละ 40 ของความจุ ลากท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ลัดเลาะป่าระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร มายังแหล่งเก็บน้ำดิบเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับอุปโภคบริโภค แต่ขอความร่วมมือทำนาปรัง เนื่องจากน้ำไม่พอ.-สำนักข่าวไทย