สปป.ลาว 7 ธ.ค.- โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย สปป.ลาว เปิดเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD ) แล้ววานนี้ (6 ธันวาคม 2562) หลังล่าช้าเพราะเหตุสันเขื่อนดินย่อยส่วน D เกิดการทรุดตัว จนทำให้น้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2561
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย สปป.ลาว มี กำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์ เปิดเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD ) แล้วในวานนี้ (6 ธันวาคม 2562) ผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายปีละประมาณ 1,804 กิกะวัตต์ชั่วโมง หรือ ล้านหน่วย โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าลาว (Electricite Du Laos: EDL) เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย มีกำลังผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 396 เมกะวัตต์ โดย 354 เมกะวัตต์ หรือ 1,575 ล้านหน่วย ผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 27 ปี และกำลังผลิตอีก 42 เมกะวัตต์ หรือ 229 ล้านหน่วย ผลิตจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าลาว โครงการนี้พัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างรัฐบาลไทยและสปป. ลาว โดยมีบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานโครงการ ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างผู้ลงทุนเกาหลีใต้ ไทย และสปป.ลาว
“นับจากเหตุการณ์สะเทือนใจเมื่อปีที่แล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทุ่มเทความพยายามแก้ไขและฟื้นฟูผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่ ในขณะที่การก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งได้ควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ให้เดินหน้าแล้วเสร็จ “ นายกิจจากล่าว
นายกิจจากล่าวว่า นอกจากนี้เพื่อลดผลกระทบแก่ผู้มีส่วนได้เสียส่วนหนึ่ง การฟื้นฟูและเยียวยา ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมก็ทำคู่ขนานกันไปจนคืบหน้าเป็นรูปธรรม และยังมีเป้าหมายดำเนินการแผนฟื้นฟูระยะยาวให้สำเร็จในปี 2564 จากนั้นก็จะสานต่อการพัฒนาชุมชน และคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนต่อไป บริษัทฯ ยังพร้อมสนับสนุนนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชียของสปป.ลาว อย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่า โรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย จะช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งสองประเทศได้ในระยะยาว
โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ตั้งอยู่ในแขวงจำปาสัก และแขวงอัตตะปือ สปป. ลาว พัฒนาและดำเนินงานโดยบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด ประกอบด้วยผู้ถือหุ้น 4 ราย ได้แก่ SK Engineering & Construction Company Limited ถือหุ้น (26%), Korea Western Power Company Limited (25%), รัฐวิสาหกิจลาว (24%) และ RATCH (25%) ไฟฟ้าที่ผลิตจำหน่ายให้ กฟผ. จะส่งผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์จากสถานีไฟฟ้าปากเซ สปป.ลาว โดยระยะแรกจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบ 230 กิโลโวลต์ มายังสถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลราชธานี 3 เพื่อมาเสริมระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-สำนักข่าวไทย