ทำเนียบฯ 29 พ.ย. – ไทย-ฮ่องกงลงนาม MOU 6 ฉบับ เชื่อมสัมพันธ์การค้าและการลงทุน สร้างบริบทใหม่ เดินหน้าเจรจา FTA ร่วมมือด้านความปลอดภัยไซเบอร์ กรีนไฟแนนซ์ ส่งเสริมสตาร์ทอัพไทย ร่วมมือสร้างภาพยนต์ระดับเวทีโลก
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หารือกับนางแคร์รี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมคณะ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุดมศึกษาฯ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อใช้เป็นกลไกถาวรในการกระชับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนทั้ง 2 ประเทศ และหารือร่วมกันเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง นัดต่อไปเชิญไทยเยือนฮ่องกง เพื่อสร้างมิติใหม่ทั้ง 2 ฝ่ายไทย-ฮ่องกง โดยจะมีการนัดประชุมระดับสูงร่วมกันอย่างน้อยปีละครั้ง ฮ่องกงถือเป็นหัวหอกสำคัญในการเชื่อมโยงเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับเขตอ่าวกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macao Greater Bay Area: GBA) ภายใต้นโยบาย BRI (ข้อริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง) ของจีน ขณะที่ไทยมีเศรษฐกิจแข็งแกร่งมากขึ้นตั้งอยู่ใจกลางอาเซียนและอินโดจีนหรือ CLMVT เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ
ผู้บริหารระดับสูงไทย-ฮ่องกง จึงลงนามร่วมกัน 6 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือ ด้านการค้าและการลงทุน เพื่อร่วมมือกันผลักดันให้มูลค่าการค้าไทยและฮ่องกงบรรลุเป้าหมาย 20,000 ล้านดอลาร์สหรัฐในปี 2563 หากเศรษฐกิจดีขึ้นปีหน้าการค้าทั้ง 2 ฝ่ายจะเพิ่มขึ้นกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะการส่งออกข้าวหอมมะลิเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมของไทยออกไปสู่ตลาดโลก รวมทั้งพร้อมเริ่มหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA ไทย – ฮ่องกง) การปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุนของภาคเอกชน หลังได้เปิดสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าฮ่องกงในไทยแล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 จะเริ่มต้นร่วมกันศึกษา FTA อย่างจริงจัง และปี 2564 จะเริ่มวางกรอบการเจรจาร่วมกันได้ ทั้งด้านบริการและด้านอื่นเพิ่มเติม
2.การลงนามด้านการลงทุนและการโยกย้ายฐานการผลิต ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมการผลิตและการโยกย้ายฐานการผลิตของวิสาหกิจฮ่องกงมายังไทย หลังจากในช่วง 20-30 ปีก่อน นักลงทุนสนใจไปลงทุนในจีน นับว่านายเอ็ดเวิรด์ เยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ได้นำคณะนักลงทุนชุดใหญ่ของฮ่องกงมาเยือนไทย 3.การลงนามด้านการเงิน เพราะฮ่องกงเป็นตลาดทุนขนาดใหญ่ระดับโลก ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเติบโตสูงมากทั้งมูลค่าการซื้อขายและจำนวนหุ้นที่มีศักยภาพ ไทยจึงนำหลักทรัพย์ไทยรร่วมทำ cross listing การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ เชื่อมโยงข้อมูลการตลาด หรือการทำ regulatory mapping ปูทางไปสู่ผลิตภัณฑ์ ด้านการเงินใหม่ ๆ การปกป้องคุ้มครองนักลงทุน เพื่อความร่วมมือด้านความปลอดภัยไซเบอร์ กรีนไฟแนนซ์ หรือการลงทุนอย่างโปร่งใส หรือส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
4. ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คนไทยและฮ่องกงต่างมีพลังแห่งความสร้างสรรค์ (creative power) อาทิ การสร้างภาพยนตร์ ละคร โฆษณา การออกแบบ จึงร่วมกันพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาภาพยนต์ออกสู่เวทีโลก 5. ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น (Start-up) ด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เพราะ 2 ฝ่ายมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงต้องลงนามร่วมกันระหว่าง Hong Kong Cyberport และ Innospace Thailand เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การทำวิจัยร่วมการบ่มเพาะ Start-up ที่มีศักยภาพ และการมีมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ Start-up เข้าสู่ตลาดโลกได้ง่ายขึ้น เพราะฮ่องกงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มและมีกองทุนคอยให้การช่วยเหลือ และ 6.การลงนามระดับผู้นำ เพื่อความร่วมมือต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล มุ่งเน้นด้านอาชีวศึกษาและการยกระดับทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร และด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ หรือ STEM เพื่อส่งเสริมเพิ่มนักท่องเที่ยว 3 ล้านคน/ปี ภายในปี 2564
นางแคร์รี่ หล่ำ กล่าวย้ำว่า ไทยเป็นมหามิตรสำคัญของฮ่องกง จึงได้จัดเวทีหารือร่วมกับหลายครั้ง และเพิ่มความสำคัญ เพราะนายสมคิดเป็นมิตรแท้ได้ร่วมผลักดันทั้งความร่วมมือ GBA และ BRI ให้คืบหน้ามาต่อเนื่อง สะท้อนการให้ความสำคัญของทั้ง 2 ฝ่าย โดยได้รับแรงผลักดันจากนายกรัฐมนตรีของไทย ทำให้ความร่วมมือทั้งด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม สตาร์ทอัพ การลงนามร่วมกันครั้งนี้เป็นการสร้างโอกาสร่วมกัน 2 ฝ่ายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการเชื่อมโยงตลาดทุน เพราะฮ่องกงมีความเข้มแข็งทางการเงิน แม้ปัจจุบันฮ่องกงยังอยู่บนความขัดแย้งทางการเมือง แต่ขอเน้นย้ำเรื่องการปกครองแบบ One Country Two Sysytem
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า ฮ่องกงมองว่าไทยพัฒนาการสร้างภาพยนต์ และคนไทยนิยมดูหนังจีนฮ่องกงหลายสิบปีผ่านมา ความร่วมมือด้านการสร้างภาพยนตร์จึงเป็นเป้าหมายร่วมกัน เพราะไทยมีทั้งทำเล และการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์มุ่งไปสู่การผลักดันผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทยก้าวสู่เวทีโลก.- สำนักข่าวไทย