กรุงเทพฯ 9 ต.ค.-เปิดรายได้บริษัทเจ้าของสัมปทานเดินรถเมล์สาย 8 รวม 4 บริษัท พบบางบริษัทกำไรในปี 61ไม่ถึงล้าน บางบริษัทกำไร 42,000 บาท บางบริษัทขาดทุน
คับข่าวครบประเด็น ตรวจสอบข้อมูลจาก ขสมก. พบว่ามี 4 บริษัทเอกชนที่เป็นเจ้าของสัมปทานการเดินรถเมล์สาย 8 ในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็นรถปรับอากาศ (ปอ.) 30 คัน และ รถร้อน 72 คัน รวมทั้งสิ้น 102 คัน โดย 4 บริษัทประกอบด้วย
1.บริษัท กลุ่ม 39 เดินรถ จำกัด มีรถเมล์ร้อนให้บริการ 20 คัน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2561 “กลุ่ม 39 เดินรถ” มีรายได้ 376,000 บาทโดยประมาณ หักรายจ่ายทุกอย่างแล้ว เหลือกำไร 42,000 บาทโดยประมาณ (ปี 2560 ขาดทุน 15,000 บาท)
2.บริษัท ทรัพย์ 888 จำกัด มีรถเมล์ร้อนให้บริการ 26 คัน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2561 “ทรัพย์ 888” มีรายได้ทั้งหมด 15 ล้านบาทเศษ หักต้นทุนหักทุกอย่างแล้วเหลือกำไร 880,000 บาท (ปี 2560 กำไร 1.39 ล้านบาท)
3.บริษัท ไทยบัสขนส่ง จำกัด มีรถเมล์ร้อนให้บริการ 26 คัน ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ปี 2561 “ไทยบัสขนส่ง” มีรายได้รวม 22 ล้านบาทเศษ แต่ผลประกอบการขาดทุน 320,000 บาทเศษ (ปี 2560 กำไร 75,000 บาท)
4.บริษัท ซิตี้บัส จำกัด มีรถ ปอ. รวมทั้งหมด 30 คัน แต่รถ ปอ. จะวิ่งยาวไปถึงเคหะร่มเกล้า จากการตรวจสอบงบกำไร-ขาดทุน จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าปี 2561 “ซิตี้บัส” มีรายได้ประมาณ 60 ล้านบาท แต่ต้นทุนจากการให้บริการรถ ปอ. มากถึง 55 ล้านบาท เมื่อหักทุกอย่างทั้ง ดอกเบี้ย ภาษี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทำให้มีกำไร 501,000 บาท (ปี 2560 ขาดทุน 2.3 ล้าน)
นักวิเคราะห์พบสาเหตุว่าทำไมรถเมล์จึงได้กำไรน้อยและบางส่วนขาดทุน เป็นเพราะเป็นรถที่วิ่งตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า ทำให้ได้รับผลกระทบจากการจราจร ไม่สามารถทำเวลาได้เหมือนกับในอดีต โดยในอดีตรถเมล์สาย 8 สามารถวิ่งจาก “สะพานพุทธ – แฮปปี้แลนด์ และ แฮปปี้แลนด์ – สะพานพุทธ” รอบละ 3 ชม. แต่พอเจอรถติด อาจใช้เวลามากถึง 6-7 ชม. ทำให้ไม่สามารถทำรอบได้เหมือนเดิม
สำหรับพนักงานรถเมล์สาย 8 มีรายได้ไม่มาก หากเป็นพนักงานของรถปอ. จะมีอัตราเงินเดือนและเบี้ยเลี้ยงที่ชัดเจน แต่ในส่วน 3 สายที่เป็นรถเมล์ร้อน ปรากฏว่าได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 150 บาท แบ่งเป็นคนขับ 100 บาท และ กระเป๋า 50 บาท ส่วนที่เหลือจะได้ส่วนแบ่งจากค่าตั๋วที่วิ่งได้ในแต่ละรอบ อัตราคนขับ 10 เปอร์เซ็นต์ และกระเป๋า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมักเห็นคนขับรถเมล์และกระเป๋ารถเมล์เป็นคนในครอบครัวเดียวกันมาช่วยกันทำงาน ดังนั้นส่วนหนึ่งของปัญหาอาจมาจากรายได้ไม่พอใช้ อารมณ์ร้อน กดดัน ต้องทำรอบให้ได้มากที่สุดเพื่อทำเงินให้ตัวเอง แต่ท้ายสุดเพราะความเร่งรีบและกดดัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง รวมถึงขับรถเร็วเพื่อทำรอบ และมีการแก่งแย่งเข้าป้ายเพื่อชิงผู้โดยสาร.-สำนักข่าวไทย