กรมสุขภาพจิต 9ต.ค.-จิตแพทย์ ชี้ชายก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้หญิงคู่กรณี เป็นคนมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตัวเอง แต่ยังไม่สามารถชี้ได้ว่า เป็นโรคทางจิตเวช
นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผอ.สำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีชายก่อเหตุทำร้ายร่างกายผู้หญิง ซึ่งเป็นคู่กรณีโดยการชกต่อย จากเหตุขับรถชนท้ายกันและมีพฤติกรรมหลายอย่างกลบเกลื่อนการกระทำผิด เช่นย้อนมาเก็บเศษกระจกรถที่แตกในที่เกิดเหตุและแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าไม่ใช่ผู้ก่อเหตุนั้นว่า ยังไม่สามารถชี้ได้ว่าชายคนนี้ มีอาการโรคจิตเวชหรือไม่ เนื่องจากต้องประเมินสภาพจิต และดูประวัติว่ามีการกระทำซ้ำๆ หลายครั้งหรือไม่ แต่ที่บ่งชี้ได้ คือชายคนนี้มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ตัวเอง เมื่อหงุดหงิดจะแสดงออกทันทีและแสดงออกด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือ (acting out) เพราะเหตุกระตุ้นมีน้อยมาก
นพ.บุรินทร์ กล่าวต่อว่า ถ้าศึกษาประวัติ พบว่า ชายคนนี้มีการแสดงเช่นนี้บ่อยๆ และมีปัญหากับคนรอบข้าง ก็จะเข้าข่ายบุคลิกภาพผิดปกติ ซึ่งการดูแลรักษา ต้องใช้กระบวนการจิตบำบัดหรือการควบคุมอารมณ์ หุนหัน พลันแล่นไม่ได้ ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งต้องใช้ยาร่วมกับการปรับพฤติกรรม
สำหรับการสังเกตบุคลิกภาพหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นสิ่งสำคัญที่คนในครอบครัวต้องหัดสังเกต เพื่อให้คำแนะนำหรือการช่วยเหลือได้ทัน ขณะเดียวกันผู้มีอาการเองต้องสังเกตตัวเองให้พบว่ามีสิ่งใดมารบกวนการใช้ชีวิตตามปกติ ควรเรียนรู้และหาข้อมูลว่า นี่คือภาวะอาการจิตเวชและหาทางปรึกษาแพทย์
‘ปัจจุบันสภาพแวดล้อมสังคมที่เปลี่ยนแปลงทำให้พบว่าใน 5 คน จะพบมี 1 คนที่มีภาวะทางจิตเวช จึงมีคำถามว่าเราสามารถเป็น 4 คนที่จะให้ความช่วยเหลือ 1คนที่มีอาการทางจิตเวชได้หรือไม่ โดยการสอดส่องมองหาและใส่ใจรับฟัง เพราะบุคคลเหล่านี้ มักจะแสดงสัญญาณขอความช่วยเหลือตลอดเวลาและการให้ความช่วยเหลือผู้มีอาการทางจิตเวชจะช่วยลดข้อขัดแย้งในสังคมลงได้ เช่น ข้อขัดแย้งทางกฎหมายที่เกิดขึ้นกับชายคนนี้’ นพ.บุรินทร์ กล่าว
พร้อมกันนี้ยังแนะนำให้มองว่าการมาพบจิตแพทย์หรือพยาบาลหรือนักจิต วิทยานั้น เป็นเหมือนการมาหาเพื่อนคุย เสมือนเป็นการเติมวิตามินให้กับสุขภาพจิตหรือสามารถโทรศัพท์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย