สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 3 ธ.ค.-สมาชิก สปท. เชื่อหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมาย ระบุ ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ระบบอุปถัมภ์เข้มข้นขึ้น พรรคการเมืองยังเชื่อมโยงกับฐานธุรกิจเหมือนเดิม โดยที่พรรคอุดมการณ์ที่เป็นมวลชนจะไม่เกิดขึ้น
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดโครงการเสวนา หัวข้อ “ชีวิตคนไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยมีนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนิสิต เข้าร่วมการเสวนา
โดยนายคำนูณ กล่าวว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่อาจคาดไม่ถึงและไม่เคยเห็นมาก่อน นับตั้งแต่วันประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญไปอีก 6 ปี โดยเฉพาะช่วงปีแรกที่จะเกิดการผันผวนและพลิกล็อก แต่สุดท้ายก็มีความหวังว่าจะจบลงด้วยดี และนำพาประเทศไทยไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักยาวนานพอสมควร
“ในทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมานั้น ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ในทางเศรษฐกิจก็อยู่ในกับดักของรายได้ปานกลาง สิ่งที่คนไทยจะได้เห็นจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ การสร้างกลไกให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่กำหนดให้เกิดการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม แต่ทุกรัฐบาลที่เข้ามา นับจากนี้จะต้องปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องและตลอดไป ทั้งนี้นอกจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับแล้ว เชื่อว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ จะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่บังคับใช้หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องประกาศมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน ทั้งนี้การปฏิรูปประเทศทุกเรื่องจะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเห็นใน 6 ปีนับแต่บังคับใช้รัฐธรรมนูญ คือ กระบวนการปฏิรูปประเทศที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน ขณะที่พระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติจะต้องเกิดขึ้นภายใน 120 วัน และมีแผนยุทธศาสตร์ชาติต้องเกิดขึ้นภายใน 1 ปี ซึ่งจะคาบเกี่ยวเวลาก่อนที่รัฐบาลใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ดังนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องผูกพันกับการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ มีผลผูกพันต่อนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาและการใช้งบประมาณของรัฐบาล
นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีบทเฉพาะกาลแตกต่างจากที่เคยมีมา โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรก คือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ คสช.ยังคงอยู่ และกำหนดให้หัวหน้า คสช.ยังคงอยู่ด้วย หมายความว่า มาตรา 44 ยังคงอยู่จนกว่าจะมีการส่งมอบอำนาจหน้าที่ให้กับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง จึงทำให้มีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโครงสร้าง ก่อนที่อำนาจมาตรา 44 จะหมดไป จากนั้นระยะที่ 2 หลังจากมี ส.ว.ชุดแรกในระยะ 5 ปี มีลักษณะที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะเป็น ส.ว.มาจาก 3 ส่วน คือ มาจากการสรรหาตามบททั่วไป 50 คน คสช.สรรหา 194 คน และอีก 6 คนมาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ นอกจากนี้ ขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันใด คงอยู่ประมาณปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 โดยส่วนตัวคาดหวังให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น
ด้านนายบรรเจิด ตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิรูปประเทศเป็นเจตนารมณ์ของประชาชนตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยอมรับว่าการปฏิรูปประเทศนั้นเป็นเรื่องยาก แต่หากไม่ปฏิรูปประเทศ ก็จะลำบากยิ่งกว่า ซึ่งเวลานี้ประชาชนต้องตระหนักได้แล้วว่าการปฏิรูปประเทศ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ไม่ต้องรอจนถึงวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทั้งนี้การมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่รับฟังความเห็นเท่านั้น แต่ต้องมีตัวแทนของประชาชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ
นายบรรเจิด กล่าวอีกว่า ส่วนหมวดที่เกี่ยวกับการเมืองในร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวมองว่าพรรคการเมืองจะยังคงเชื่อมโยงกับฐานธุรกิจเช่นเดิม แต่พรรคอุดมการณ์ที่เป็นมวลชนจะไม่เกิดขึ้น เพราะระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวนำไปสู่ระบบอุปถัมภ์ที่เข้มข้นขึ้น ขณะเดียวกัน ร่างรัฐธรรมนูญยังมีเครื่องมือในการนำนักการเมืองออกจากตำแหน่งง่ายขึ้นด้วย ส่วนระบบการตรวจสอบองค์กรของรัฐที่ได้วางมาตรการอย่างเข้มข้น คือ หากมีการทุจริตจากการจัดทำงบประมาณเกิดขึ้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมในการจัดทำงบประมาณ ก็ต้องได้รับบทลงโทษทั้งหมด ยอมรับว่า เป็นเครื่องมือที่รุนแรงที่สุด แต่จะใช้ได้ผลแค่ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น เพราะครั้งต่อไป จะมีการหาทางหลบเลี่ยงเกิดขึ้น ทั้งนี้ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ เชื่อว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน แต่การขับเคลื่อนที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็ต้องขึ้นอยู่กับประชาชน
ขณะที่ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกลไกสำคัญที่วางระบบจัดการประเทศให้มีประสิทธิภาพ และอำนาจอยู่กับประชาชนอย่างแท้จริง แต่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พยายามสร้างกลไกให้อำนาจศาลและองค์กรอิสระที่มากเกินไป โดยไม่แบ่งแยกถ่วงดุลซึ่งกันและกัน รวมถึงข้อกังวลเรื่องมาตรา 44 ที่ยังมีอยู่ แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้ เกรงว่าจะเกิดปัญหาตามมา ส่วนการปฏิรูปประเทศ มองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่คงไม่สามารถผูกมัดด้วยเงื่อนไขเวลา และเกิดขึ้นได้โดยกฎหมายอย่างเดียว แต่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งมองว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุด.-สำนักข่าวไทย