รร.แมนดาริน 25 ก.ย..-องค์กรผู้หญิงชี้ทุกอาชีพต้องได้รับเกียรติ ไม่มีใครมีสิทธิล่วงละเมิด ด้าน สคอ. ยันแข่งดื่มในร้านเอาผิดได้ แต่จัดในบ้านกฎหมายเอื้อมไม่ถึง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิธีรนารถ กาญจนอักษร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และเครือข่ายปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคม จัดเวทีเสวนา “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับพฤติกรรมดื่มหนักดื่มเร็ว และการคุกคามทางเพศ” โดยถอดบทเรียนจากกรณีการเสียชีวิตของพริตตี้สาว พบข้อมูลการดื่มหนัก ดื่มเร็ว ที่อาจมีการจูงใจบังคับดื่มหรือแข่งดื่ม ทั้งนี้ภายในงานมีกิจกรรมตัวแทนเครือข่ายเยาวชนและผู้เข้าร่วม ช่วยกันพับนกกระดาษ อ่านบทกวี และยืนสงบนิ่งเป็นการให้เกียรติและไว้อาลัยผู้วายชนม์
นางสาวเอ (นามสมมติ) อดีตสาวเชียร์เบียร์ที่คลุกคลีกับวงการพริตตี้สายเอ็น กล่าวว่าจากที่ได้เข้าไปสัมผัสโดยตรงและคนรอบข้าง พบว่าวงการนี้มีความเสี่ยงและผลประโยชน์อย่างมาก เป็นอาชีพที่ทำเงินได้ง่าย แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกลวนลามคุกคามทางเพศ แม้ปัจจุบันตัวเองจะห่างจากอาชีพนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่พอทราบจากน้องๆว่าเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงที่จะโดน แน่นอนมีบางคนยินยอมพร้อมใจไปจบกันบนเตียง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะเป็นอย่างนั้น ไม่อยากให้สังคมมองคนทำอาชีพนี้แบบเหมารวม พวกเขาก็มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในทุกๆอาชีพรวมทั้งพวกน้องๆเหล่านี้ก็ไม่ควรมีใครถูกล่วงละเมิด ถูกมอมเหล้า มอมยาเพื่อบังคับข่มขืนทั้งร่างกายและจิตใจ ส่วนตัวเชื่อว่ามีจำนวนมากเลยที่ถูกล่วงละเมิด ไปจนถึงถูกข่มขืนแต่ไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาบอกความจริง และก็นึกไม่ออกว่าใครจะช่วยได้ จึงทำให้ผู้ก่อเหตุเกิดภาวะย่ามใจและกระทำซ้ำกับคนอื่นอีก กลายเป็นวงจรที่ไม่จบสิ้น
นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า สังคมไทยยังมีมายาคติเกี่ยวกับการดื่มที่แตกต่างกันระหว่างเพศ เช่น เมื่อผู้ชายเมาทำร้ายร่างกายภรรยา คนในสังคมจะมองว่าเพราะเขาเมาเลยทำให้ขาดสติ แต่ในทางกลับกันอย่างคดีของลัลลาเบล สังคมจะมองว่าก็ทำอาชีพแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้แล้วใครก็สามารถล่วงละเมิดทางเพศได้ หรืออาจจะมองไปว่าเป็นความผิดของผู้หญิงที่พาตัวเองไปในที่แบบนั้น ซึ่งความคิดเหล่านี้มันเป็นความคิดในเชิงอำนาจที่ถูกสะสมมาเป็นเวลานาน ผู้ชายสามารถดื่มเหล้าได้เวลาทำผิดจะมีข้ออ้างว่าขาดสติไม่ตั้งใจกระทำรุนแรง แต่ถ้าเป็นผู้หญิงดื่มจนเมาจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี การถูกละเมิดทางเพศก็เป็นเพราะตนเองเป็นสาเหตุกระตุ้นให้ผู้กระทำละเมิดทางเพศ แม้แต่กฎหมายเองยังไม่ให้ความยุติธรรมกับผู้หญิงเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง
“เราต้องกลับมาตั้ง คำถามว่า จะลบมายาคติที่มองผู้หญิงที่ดื่มว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี และผู้ชายทำอะไรก็ได้ในร่างกายของผู้หญิง ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรหรือแม้แต่งานบริการทางเพศ ถ้าไม่ใช่ในเวลาทำงานของเขาผู้ชายก็ไม่มีสิทธิ์จะล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงได้ ”
“สำหรับคดีการเสียชีวิตของลัลลาเบล มีนัยยะที่สำคัญต่อสังคมรวมทั้งโลกโซเซียล ต่างเรียกร้องให้หาความจริง ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องลบมายาคติของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่แตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองจะต้องเข้ามาจัดการ ออกกฎหมายคุ้มครองทุกอาชีพ เพื่อให้ผู้หญิงที่มีอาชีพต่างๆ เช่น พริตตี้ ได้มีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต นอกจากจะให้ภาครัฐเขามาดูแลแล้ว ผู้ประกอบอาชีพอย่างพริตตี้ควรจะมีพื้นที่และเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจในการต่อรอง เหมือนกับสหภาพแรงงานต่างๆ และในส่วนของครอบครัว ควรสั่งสอนลูกหลานที่เป็นผู้ชายว่าคุณไม่มีสิทธิ์ที่จะไปทำร้ายร่างกายใคร ไม่มีสิทธิที่จะล่วงละเมิดใคร ไม่ว่าเขาจะแต่งตัวอย่างไรหรือทำอาชีพอะไร การให้เกียรติเคารพในเนื้อตัวร่างกายคนอื่นเป็นเรื่องพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์” นางสาวนัยนา กล่าว
นายแพทย์ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเสี่ยงต่อการเกิดแอลกอฮอล์เป็นพิษ หากดื่มเกินปริมาณส่งผลต่อประสาท การเคลื่อนไหว เสี่ยงต่อการหยุดหายใจ ซึ่งหากพบเห็นใครที่มีอาการเหล่านี้ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ช่วยเหลือเบื้องต้นได้โดยการจัดท่านอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก รักษาระดับศีรษะและคอให้เท่าๆกัน ค่อยๆพลิกตัวให้นอนหงาย เรียกชื่อดังๆ ให้ลืมตากว้าง ลองจิ้มที่ตัวเพื่อดูปฏิกิริยาตอบสนอง มองที่อกหรือท้องเพื่อดูจังหวะการหายใจ หายใจช้าลงหรือติดขัด ร่างกายไม่ตอบสนองให้ทำซีพีอาร์ แล้วเรียกรถพยาบาลหรือนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งการใช้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารเสพติด จะส่งผลให้เกิดอาการเมาหมดสติและเสียชีวิตได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะสารเสพติดในกลุ่มยานอนหลับ
นายแพทย์พงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า รูปแบบการดื่มในปัจจุบันค่อนข้างเปลี่ยนไปมาก หากเป็นลักษณะจัดแข่งขันดื่มกันเองที่บ้าน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่หากเป็นการดื่มในร้าน มีการเชียร์ให้ดื่ม แข่งดื่ม จัดโปรโมชั่น ส่งเสริมการขาย อันนี้ ผิดมาตรา30 และ มาตรา32 แน่นอน ส่วนกรณีนี้มีโทษทางอาญาร่วมด้วย เพราะทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
“ตัวกฎหมายเน้นเอาผิดการขาย มากกว่าเอาผิดการดื่ม ซึ่งไม่ควบคุมในเรื่องปริมาณการดื่ม แต่จะกำหนดช่วงเวลาการขายสุรา และกำหนดเพียงบางสถานที่ห้ามขายเท่านั้น เช่น วัดโรงเรียน หน่วยงานราชการ ดังนั้นจึงต้องออกอนุบัญญัติเพิ่มเติม เบื้องต้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณะสุขเป็นประธาน เพื่อเสนอให้มีการปรับเพิ่มอนุบัญญัติให้สอดรับกับสถานการณ์การดื่มที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้อยากฝากเตือนว่า การแข่งกันดื่มสุรา บังคับดื่ม ดื่มหนักดื่มให้หมดในเวลารวดเร็ว มันไม่คุ้มที่จะเอาชีวิตมาเสี่ยง”นายแพทย์พงศ์ธร กล่าว.-สำนักข่าวไทย