กรุงเทพฯ 25 ก.ย.- “สุวัจน์” เตือนรัฐบาลดูแลเสียงในสภาฯ ให้ดีต้องชนะโหวตกฎหมายสำคัญ แนะแก้รัฐธรรมนูญใช้ช่องทางสภาฯ เหมาะสมสุด พร้อมเชิญหลายฝ่ายเป็นกมธ. ชี้ อย่าแก้เพื่อการเมืองได้เปรียบ-เสียเปรียบ
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) กล่าวถึงทิศทางการเมืองของรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องยอมรับว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมานั้นไม่ง่าย เพราะจัดตั้งท่ามกลางการเมืองที่แบ่งขั้วอย่างชัดเจน เนื่องจากพื้นฐานรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทำให้เกิดพรรคการเมืองใหม่ ๆ และพรรคที่มีเสียงน้อย ๆ นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผลการเลือกตั้งพลิกล็อคจนเกิดพรรคใหม่ที่มีส.ส.เพียง 1 เสียงหลายพรรค ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลยากลำบากที่จะให้มีเสถียรภาพ และรัฐบาลต้องพยายามบริหารจัดการเสียงส.ส.ที่มี 250 ต้น ๆ ถือว่ายากลำบากในการลงคะแนน ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้ชนะโหวตจึงเป็นเรื่องสำคัญ หลังจากนี้จะมีการลงมติเรื่องต่างๆ เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่รัฐบาลจะต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมาก ๆ ต้องดูแลเสียงให้ชนะ กฎหมายที่สำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน แม้ว่าจะเหนื่อยก็ต้องยอมรับ ทุกคนต้องไม่ขาดประชุมเพื่อชนะโหวต
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือว่ามีปัญหาหรือไม่ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนด้วยการลงประชามติมาแล้ว แต่ก็มีหลายฝ่ายมีความคิดที่จะแก้ไข ทางพรรคชาติพัฒนาเคยพูดแล้วว่าถ้าใช้ไปแล้วมีปัญหาก็มาพูดคุยกันได้ ตอนนี้ก็ใช้รัฐธรรมนูญมาระยะหนึ่งแล้ว พรรคฝ่ายค้านยื่นเสนอให้ศึกษาแก้ไข รวมถึงพรรครัฐบาล และนักวิชาการกลุ่มต่าง ๆ ด้วย แต่ในส่วนของตนคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องยื่นเรื่องนี้ผ่านสภาฯ ที่มีสถานภาพเหมาะสมที่สุดในการเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสมัยประชุมสามัญครั้งหน้าจะมีการหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกัน ถ้าได้ข้อสรุปตรงกันถือเป็นเรื่องดี
“เราต้องดูว่ามีประเด็นอะไรที่สังคมและประชาชนคิดว่าควรแก้ไข หากสภาฯมีญัตติให้ความเห็นชอบก็เชิญหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาเป็นกรรมาธิการ เพื่อช่วยกันแสดงความคิดเห็น ถือเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งสภาฯไม่ได้นิ่งนอนใจ ขอให้รอดูเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญหน้า” นายสุวัจน์ กล่าว
เมื่อถามว่ามุมมองส่วนตัวคิดว่าควรแก้ไขหรือไม่ นายสุวัจน์ กล่าวว่า ต้องเป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนว่ามีปัญหาในการปฏิบัติ ต้องไม่แก้เพื่อให้ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบโดยเฉพาะทางการเมือง ต้องเปิดกว้างให้ประชาชน นักวิชาการ และกลุ่มอาชีพต่าง ๆ มาช่วยให้ความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม การเมืองในยุคนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เป็นการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ มีเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่ และกระแสของประชาชน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้การเมืองในอดีตไม่มี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทสำคัญ ซึ่งนักการเมืองต้องระมัดระวังตัวเอง รอบคอบ เหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ .-สำนักข่าวไทย