กรุงเทพฯ 5 ก.ย.- “บิลลี่” มีความสามารถหลายด้าน เคยร่วมทำหนังสั้นจากชีวิตจริงชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และได้รับรางวัลด้วย ขณะที่อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งข้อสังเกต คดีอุ้มหายที่เชื่อมโยงเจ้าหน้าที่รัฐมีวิธีการบางอย่างคล้ายกัน และจนถึงขณะนี้ไทยยังไม่มีกฎหมายเอาผิดคดีอุ้มหาย ลักพาตัว ทั้งที่ลงนามในอนุสัญญาของสหประชาชาติมาตั้งแต่ปี 55 แล้ว
วิถีชีวิต หรือ “The Way of Lives” คือหนังสั้นที่สร้างจากเรื่องจริงของชาวปกาเกอะญอบางกลอยในผืนป่าแก่งกระจาน บิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ คือส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดหนังสั้นเรื่องนี้และยังร่วมแสดงด้วย และยังได้รับรางวัลพิราบขาว ภาพยนตร์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพจากเทศกาลหนังสั้นปี 57 ปีเดียวกับที่บิลลี่ ถูกอุ้มหาย
ก่อนถูกอุ้มหาย 3 เดือน บิลลี่ มาร่วมเสวนาในงานกะเหรี่ยงศึกษา ที่ มช. เขาเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำหนังสั้นเพื่อการต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินของชนกลุ่มน้อย
“อังคณา นีละไพจิตร” อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทย ระหว่างเตรียมตัวเข้ารับรางวัลแมกไซไซ จากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ฟิลิปปินส์ ว่า บิลลี่ ถือเป็นคดีอุ้มหายคดีแรกของไทยที่พบชิ้นส่วนจนยืนยันได้ว่าเสียชีวิตแล้วจริง ที่ผ่านมาการอุ้มหายที่เชื่อมโยงเจ้าหน้าที่รัฐ การทำคดียากลำบากมาก รวมทั้งคดีอุ้ม “ทนายสมชาย นีละไพจิตร” สามีของเธอ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งการซ่อนเร้นอำพรางศพทนายสมชาย และบิลลี่ มีวิธีการบางอย่างที่คล้ายกัน
อดีตกรรมการสิทธิฯ บอกด้วยว่า จนถึงขณะนี้ไทยยังไม่มีกฎหมายในความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายและเอาผิดผู้กระทำผิด แม้รัฐบาลลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ ตั้งแต่ปี 55 และเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย ในปี 59 แต่เมื่อส่งร่างกฎหมายให้ สนช.พิจารณา มีขั้นตอนล่าช้า และตัดสาระสำคัญออก ขาดการมีส่วนร่วมผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน จนร่างตกไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
ข้อมูลจากคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ ระบุจำนวนผู้ถูกบังคับสูญหายในไทย 86 ราย ในจำนวนนี้จากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกือบ 40 ราย ความไม่สงบชายแดนใต้ประมาณ 31 ราย การปราบปรามยาเสพติดในภาคอีสานและกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือประมาณกว่า 10 ราย.-สำนักข่าวไทย