กรุงเทพฯ 5 ก.ย. – สสว.เป็นเจ้าภาพประชุม SME อาเซียน สรุปแผนพัฒนาเอสเอ็มอีต่อที่ประชุม AEM หวังสร้างศักยภาพและโอกาสผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงใช้ดิจิทัลมากขึ้น
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวในงานสัมมนา “ASEAN MSMEs in the Digital Era: Challenges and Opportunities” ว่า ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ สสว.เตรียมแนวทางการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน ซึ่งเป็นความร่วมมือกับคณะกรรมการอาเซียนด้านวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและรายย่อยในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการใช้ดิจิทัลต่อการประกอบธุรกิจ หลังจากก่อนหน้านี้ สสว. เป็นเจ้าภาพจัดงานการประชุม Policy Dialogue on Formalization of Micro Enterprises ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-Operation and Development–OECD)เพื่อเรียนรู้แลกเปลี่ยนแนวนโยบายเพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ระบบของผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน (Policy Dialogue Formalization of Micro Enterprises)
อย่างไรก็ตาม การจัดทำ Policy Guideline on Digitalization of ASEAN Micro Enterprises โดยจะนำข้อมูลและผลสรุปจากการประชุมในครั้งที่แล้วไปประกอบการเพื่อเสนอแนะนโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบและการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในอาเซียน ซึ่งนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Minister Meeting: AEM) เพื่อให้การรับรองในเดือนกันยายน 2562 นี้ และเสนอผู้นำอาเซียนรับทราบในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ได้ต่อไป
ทั้งนี้ หากสมาชิกดำเนินนโยบายร่วมกันได้จะช่วยให้ภาครัฐสามารถพัฒนาศักยภาพสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการภาครัฐต่างๆ เช่น การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การส่งเสริมความเป็นผู้ประกอบการ การส่งเสริมการเข้าถึงตลาดและเข้าสู่ตลาดสากล นอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัว เติบโตได้ภายใต้บริบทการแข่งขันทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล ยังเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมีนัยยะสำคัญให้แก่ประเทศอาเซียนไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กลุ่มประเทศอาเซียนมีจำนวนกิจการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (SMEs) ในอาเซียนมากกว่าร้อยละ 88 ของจำนวนธุรกิจทั้งหมด และสามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอาเซียนมากกว่าร้อยละ 30 – 53 ของ GDP ในแต่ละประเทศ สร้างการจ้างงานถึงร้อยละ 51 – 97 โดยตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวม SMEs ที่อยู่นอกระบบซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งอาเซียนเกือบทุกประเทศต้องการแก้ไขปัญหาและใช้ความพยายามอย่างมากด้วยการเร่งพัฒนาระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การจัดหน่วยงานให้บริการความช่วยเหลือที่ครบถ้วน การมีสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม กฎหมายและกฎระเบียบที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อให้ SMEs เข้าสู่ระบบได้ต่อไป . – สำนักข่าวไทย