น่าน 24 ก.ค.- รอง ผอ.รพ.น่าน ห่วงเกษตรกรเสี่ยงติดเชื้อลุยโคลนเลนเป็นเวลานาน พบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าถึง 26 ราย ล่าสุดอาการรุนแรงเสียชีวิตแล้ว 1 ราย อยู่ไอซียู 2 ราย
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน ตรวจอาการของผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า หลังจากพบว่ามีผู้ป่วยหลายพื้นที่ส่งตัวเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลน่านขณะนี้รวมแล้ว 26 ราย มีภาวะติดเชื้อรุนแรงอยู่ในห้องไอซียู 3 ราย ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 1 ราย จากการซักประวัติพบว่าส่วนใหญ่เป็นชาวนาหรือเกษตรกรที่ต้องทำงานและสัมผัสกับดินโคลนเป็นเวลานาน เมื่อเกิดบาดแผลหรือรอยถลอกบนผิวหนังจะทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ในรายที่รุนแรงเชื้อจะลงลึกกินทั้งชั้นผิวหนังทำให้ มีภาวะเนื้อตายและหากเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดอาจถึงชีวิตได้ โรคนี้มักจะระบาดฤดูฝนเป็นช่วงที่เกษตรกรทำการเพาะปลูก ผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้ เท้าบวมแดง และมีแผลตุ่มพองลุกลาม
นพ.พงศ์เทพ อธิบายว่า อาการของโรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่จะมีผิวหนังบวมแดงร้อน ถ้าติดเชื้อลึกถึงชั้นผิวหนังจะพบตุ่มพุพอง และค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นสีม่วง และถ้าเนื้อตายจะกลายเป็นสีดำ บางรายอาจต้องตัดขา หรืออาจติดเชื้อในกระแสเลือด ไข้สูง และเสียชีวิต สำหรับการรักษานั้นแพทย์จำเป็นต้องตัดเนื้อตายออกให้หมด และให้ยาปฎิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ หากเชื้อยังไม่ลุกลามเข้ากระแสเลือด ผลของการรักษาจะค่อนข้างดี ดังนั้น หากทำการเพาะปลูกในแปลงนาแล้วควรทำความสะอาดร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณที่มีบาดแผลแล้วใส่ยาชนิดโพวิโดนไอโอดีนเพื่อฆ่าเชื้อ แล้วรีบมาพบแพทย์
นพ.พงศ์เทพ ย้ำด้วยว่า ส่วนผู้ที่ไม่ได้ลงนา หรือไม่มีบาดแผลก็อาจติดเชื้อดังกล่าวได้ จากการเกาหรือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย เชื้อที่อยู่บริเวณผิวหนังเมื่อเข้าไปในแผลแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าเกิดผิวหนังบวมแดงอย่างรวดเร็ว แล้วมีตุ่มพุพองแนะนำให้รีบมาตรวจรักษาก่อนที่อาการลุกลามหนัก.-สำนักข่าวไทย