กรุงเทพฯ 16 ก.ค. – ประธานสภาผู้ส่งออกนำคณะพบ ธปท. เรียกร้องดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อแก้ไขวิกฤติค่าเงินบาท
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวภายหลังนำคณะผู้บริหาร สรท.เข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะผู้บริหาร ธปท. เมื่อวานที่ผ่านมา เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออก โดยคณะกรรมการ สรท.ร้องขอ ธปท.แก้ไขปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งขอให้ดำเนินนโยบายอย่างเข้มข้นมากขึ้นในการป้องกันการไหลเข้าของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ขอให้รักษาทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งในภูมิภาค ขอให้ ธปท.จัดให้มีโฆษกและหรือข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ข้อมูลทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถตัดสินใจป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที เนื่องจาก ข้อมูลคาดการณ์จากสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์อาจทำให้สับสน และการซื้อขายสินค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อกระจายความเสี่ยงต้องพิจารณาสกุลเงินที่เหมาะสม อาทิ เงินยูโร หรือเงินปอนด์สเตอริง อ่อนค่ากว่าเงินไทย
ทั้งนี้ จึงควรให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับสถานการณ์จริงมากที่สุด คือ ด้านต้นทุนการเงิน ประกอบด้วย ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและควบคุมส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ จึงควรช่วยกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำลง สนับสนุนเอสเอ็มอีทำประกันค่าเงินในสถานการณ์ที่ผันผวนรวดเร็วอย่างต่อเนื่องและได้มากขึ้น และขอให้เปิดเผยข้อมูลอัตราค่าธรรมเนียมการซื้อขายเงินตราล่วงหน้า (Foreign Exchange Forward Contract) ของธนาคารพาณิชย์หรือกำหนดค่าธรรมเนียมกลาง เพื่อใช้ในการประกอบการทำประกันความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ทางผู้ว่าการฯ ธปท.ระบุว่าการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากปัจจัยภายนอก คือ การกำหนดนโยบายแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางประเทศหลัก ซึ่งสนับสนุน sentiment ของประเทศเกิดใหม่และประเทศไทยส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะจากนักลงทุนต่างประเทศซึ่งเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทย ขณะที่ปัจจัยภายใน ประกอบด้วย ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงเทขายทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป และจากการท่องเที่ยว สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น นักลงทุนมองเงินบาทในฐานะ Regional Safe-Haven จากปัจจัยพื้นฐานที่ดี เนื่องจากไทยได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อยกว่าประเทศอื่น การเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI และพันธบัตรไทยใน JP Morgan Index
นอกจากนี้ ธปท.ได้ดำเนินมาตรการรับมือ ประกอบด้วย หารือกับผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าหลัก เพื่อทราบสถานการณ์และผลกระทบที่แท้จริงจากการแข็งค่าของเงินบาท ปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเพิ่มแรงฝืดของเงินทุนไหลเข้าในระยะยาว ประกอบด้วย ลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ จากเดิม 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย และเพิ่มความเข้มงวดการรายงานข้อมูลยอดคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยรายงานถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับต่ำ 0.88% (Policy Rate 1.75% – Inflation 0.87%) ดังนั้น การลดดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ และไม่ได้ช่วยลดเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นรุนแรงเกินไป อาจจะทำให้ต้นทุนเงินกู้ภาครัฐสูงขึ้น เช่นเดียวกับต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์จนเกิดผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจในประเทศ การกำหนดนโยบายที่อาจนำไปสู่การเป็น Currency Manipulator จะมีผลกระทบด้านอื่นตามมาจากประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งอาจร้ายแรงกว่าผลกระทบจากค่าเงินบาทและอัตราดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ธปท.ขอความร่วมมือ สรท. ขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการมีการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ร่วมมือป้องกันการสวมสิทธิ์ส่งออกไปสหรัฐ เพื่อลดมูลค่าการส่งออกไทยไปสหรัฐ และกำหนดกลไกความร่วมมือเพื่อให้เกิดการนำเข้าจากสหรัฐมากขึ้น ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทย.-สำนักข่าวไทย