มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 9 ก.ค.-อดีตโฆษก กรธ.ยืนยันรัฐธรรมนูญ 60 ก้าวหน้าในหลายเรื่อง เชื่อจะทำให้ประเทศเดินหน้า แต่นักวิชาการติงระบบเลือกตั้งมีปัญหา ทำให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว แนะปรับแก้หากใช้แล้วส่วนไหนมีปัญหา ส่วน “อภิสิทธิ์” มอง รธน. 60 ทำให้การเมืองไทยล้าหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560” โดยมีนายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายเจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษา กรธ. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายอุดม กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญปี 60 มีความก้าวหน้าในหลายเรื่อง มีความเข้มงวดไม่ให้คนไม่ดีเข้าสูระบบการเมือง และออกแบบให้คนที่เข้ามาแล้วไม่สามารถทำสิ่งที่ไม่ดีได้ การตรวจสอบจึงเป็นไปอย่างเข้มข้น และเป็นฉบับเดียวที่มีเรื่องการปฏิรูปประเทศ และมีการพัฒนาระบบการศึกษา ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้บอกว่าจะต้องมีนักการเมืองที่ดีเท่านั้นที่จะมาทำให้ประเทศพัฒนา แต่เรามีความเชื่อในเบื้องต้นว่าถ้าระบบดี ประชาชนเข้าใจ ระบบการเมืองที่จะเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ซึ่งจากประสบการณ์ร่างรัฐธรรมนูญในประเทศต่าง ๆ มีทั้งสำเร็จและล้มเหลว ทั้งนี้ตนไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย แต่เป็นการให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม เพราะตราบใดที่มีการเลือกตั้งที่ใช้เงินและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม การเมืองก็ยังไม่ก้าวหน้า
“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ปิดห้องร่าง ระบบการเลือกตั้งที่ออกแบบมา ไม่มีใครเดาออก มีแต่ผู้เล่นที่เดาออก จึงมีการแตกแบงค์ ผมยืนยันว่าคนที่ออกแบบระบบไม่ได้คิดถึงพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เห็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 40 , 50 คนที่ได้อำนาจแล้วเอามาอ้างว่าประชาชนเลือกมา แต่ท้ายสุด ไม่ว่าวันนี้ให้ตัวแทนประชาชนร่าง หรืออาจารย์ร่าง ก็มีคนไม่ชอบเสมอ เพราะมีจุดเน้นจุดต่างที่แตกต่างกัน ทุกคนมีส่วนทำให้รัฐธรรมนูญนี้ออกมา” นายอุดม กล่าว
นายปริญญา กล่าวว่า ผลจากรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเพิ่มมากเป็น 11,128 คน หรือ 5 เท่าตัว มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครเพิ่มเป็นเท่าตัว ประชาชนถูกบังคับให้เลือกระหว่างตัวผู้สมัครและพรรค ด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว และเมื่อมีผู้สมัครมาก ทำให้ประชาชนสับสน ส่งผลให้มีบัตรเสียตามมาจำนวนมาก ต้องใช้งบประมาณเลือกตั้งมากขึ้น และเมื่อเลือกตั้งเสร็จ ประกาศผลคะแนนแล้วยังไม่สามารถทราบจำนวน ส.ส. เนื่องจากสูตรคำนวณต้องตีความ กลายเป็นการเลือกตั้งที่เสร็จไปนานแล้วยังไม่ทราบผลการเลือกตั้ง และยังไม่ได้พูดถึงกรณีที่มีใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ใบดำ ตามมาอีก จะทำให้ตัวเลข ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาที่มีการเลือกตั้งใหม่ และผลจากสูตรคำนวณทำให้มี ส.ส.จากหลายพรรค และกลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองมากที่สุด ตั้งคณะรัฐมนตรีช้าที่สุด นอกจากนี้ยังมีผู้แทนปวงชน ในส่วนของ ส.ว.ที่ชุดแรกมาจาก คสช. และ ส.ว.ยังมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรก จึงขอเรียกระบบการเมืองไทยในช่วง 5 ปีแรกคือระบบไฮบริด คือมาจาก 2 ระบบ ส.ส.ที่ประชาชนเลือก และ ส.ว.ที่มาจาก คสช.ตั้ง ซึ่งขณะนี้ยังมีประเด็นว่าหัวหน้า คสช.เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่
“ขอตั้งข้อสังเกตว่าผลจากรัฐธรรมนูญ ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ให้มาจากความเห็นชอบของ ส.ว. ซึ่ง 5 ปีแรก ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. จึงมีคำถามว่าจะมีการตรวจสอบคนที่ตั้งตัวเองหรือไม่ และยังเห็นว่ารัฐบาลฉบับนี้ให้ คสช.อยู่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้าทำหน้าที่ จึงเป็นที่มาที่นายกรัฐมนตรีไม่รีบตั้ง ครม. และยังคงมีมาตรา 44 ใช้อยู่ ดังนั้นเราอยากเห็นประชาธิปไตยก้าวไปทุ่งไหน ก็ขึ้นกับความประสงค์ของคนไทย ถ้าจะให้เดินหน้าไปสู่การปกครองที่มีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ ทุกอย่างก็มีกติกามาแล้ว หากสิ่งใดใช้แล้วไม่ดี ก็ควรแก้ไขปรับเปลี่ยนไป” นายปริญญา กล่าว
ด้านนายเจษฎ์ กล่าวว่า หากมาถามความชอบธรรม เพราะคนที่ยกร่างก็มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ซึ่งทุกคนมีความตั้งใจดีต่อประเทศชาติ แต่สิ่งที่น่าเสียดาย คือ ไม่ได้มีการอธิบายในรายละเอียดของรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบ โดยเฉพาะเรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส. และเห็นว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเมืองเป็นอย่างไร คือ ผู้เล่นควรเป็นผู้เล่น แต่รัฐธรรมนูญปี 60 กลับมีกรรมการลงมาเป็นผู้เล่นด้วย สุดท้ายเชื่อว่าคงต้องมีการแก้ไข และหวังให้มีการแก้ในรัฐสภา ไม่ใช่การฉีกรัฐธรรมนูญ โดยการรัฐประหาร
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากจะพูดด้วยความเป็นธรรม ความก้าวหน้าของการเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่กฎหมายลูก สูตรคำนวณ ส.ส. ผู้เล่น คือนักการเมือง หรือกรรมการ ล้วนมีผลต่อความก้าวหน้าการเมืองไทย แต่สิ่งสำคัญคือ ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมให้มากที่สุด และต้องทำให้ตัวแทนประชาชนที่มาใช้อำนาจ ต้องใช้อำนาจที่สุจริต ดังนั้นการเมืองจะก้าวหน้าแค่ไหน ต้องนำเรื่องดังกล่าวมาวัดว่าประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหน และตรวจสอบการใช้อำนาจได้อย่างไร แต่ต้องยอมรับว่าหากมองมุมนี้ ถือว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้การเมืองถอยหลัง แม้จะมีบทบัญญัติเรื่องการปฏิรูปมาก ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการปฏิรูป และเมื่อบวกกับยุทธศาสตร์ชาติ จะเป็นการทำให้เพิ่มกลไกในราชการมากขึ้น แต่ไม่มีการปฏิรูปที่แท้จริง จะเห็นได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาและตำรวจ มีการตั้งคณะกรรมการแยกออกมา แต่กลับไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม จึงคาดหวังได้ยาก อีกทั้งผลที่ออกมาเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเป็นผลพวงจากกติกาที่ตั้งใจออกแบบมาให้เป็นเช่นนี้ เพราะเชื่อว่าหากไม่มีวุฒิสภามามีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คงไม่มีพรรคการเมืองเข้ามาเป็นรัฐบาลถึง 19 พรรค จึงเถียงไม่ได้ว่ากติกาไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้เป็นเช่นนี้ และขอยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการใช้เงินและอำนาจรัฐในทางไม่ชอบมากที่สุด
“ผมผ่านการเลือกตั้งมาหลายรอบ ยืนยันว่ามีการใช้เงินไม่ต่างจากปี 2548 โจ่งแจ้ง ถ้าไม่มีการรู้กันของเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีการใช้อำนาจรัฐ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผลเลือกตั้ง ดังนั้นปัญหาไม่ใช่เพียงแต่อออกมาเอื้อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่พฤติกรรมยังตอกย้ำอีก” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่างจากฉบับอื่น ในเรื่องการยากที่จะแก้ไข ให้เดินไปข้างหน้าได้ เพราะต้องได้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 จึงมองไม่เห็นว่าจะได้เสียงมาจากไหน โดยเฉพาะเรื่องการลดอำนาจของ ส.ว. และหากปล่อยให้รัฐธรรมนูญเดินไปเช่นนี้ โดยผู้ที่ได้อำนาจใช้เพื่อตัวเอง จะทำให้เกิดปัญหาสังคมไม่ยอมรับ และหากเป็นเช่นนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับสุดท้ายของไทยแน่นอน
“หากฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนในการที่จะเป็นเจ้าของอำนาจอย่างเต็มที่ จะมีความขัดแย้งในสังคมเกิดขึ้น ดังนั้นต้องช่วยกันสร้างแรงกดดันผู้มีอำนาจช่วยคลายเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า” นายอภิสิทธิ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย