พูดถึงทุ่งหญ้า หรือท้องนา ในกรุงเทพฯ หลายคนคงจะนึกไม่ออก หรือคิดไม่ถึงว่าจะยังมีหลงเหลืออยู่ หากใครที่อยู่มานานก็พอจะนึกออกได้บ้าง หากอยากจะเห็น ต้องไปไกลถึง ‘หนองจอก’ ที่เป็นแหล่งปลูกข้าว แปลงเกษตรใหญ่ ซึ่งต้องออกไปค่อนข้างไกล หากใครอยากจะมองเห็นสีเขียวสุดลูกหูลูกตา
แต่ใครจะไปคิดว่าขยับออกมาไม่ไกล ในพื้นที่เขต ‘บางเขน’ ก็จะมีทุ่งนาผืนใหญ่หลายร้อยไร่ ซุกตัวอยู่ท่ามกลางถนนมอเตอร์เวย์ หมู่บ้านหรูล้อมรอบ
ด้วยความอยากรู้ว่ามีจริง หรือไม่ วันนี้ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ไปสำรวจหลังทราบเรื่องก็พบว่าผืนนาแปลงใหญ่ตอนนี้กำลังเขียวชอุ่ม หลังได้รับความชุ่มฉ่ำจากน้ำฝนที่โปรยปรายลงมาในช่วงนี้
ลงจากรถเราก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นดิน กลิ่นหญ้า สดชื่นพอจะฟอกปอดจากควันพิษระหว่างทางที่เดินทางเข้ามาได้อย่างดี แถมสีเขียวจากต้นข้าว มองออกไปช่วยชำระความคิดที่วุ่นวายจากงานที่สะสมได้อย่างดี บวกกับบรรยากาศความชื้น พื้นดินที่อ่อนนุ่มจากฝนปรอยที่ตกลงมาตั้งแต่เช้า ยิ่งทำให้แปลกใจว่า ขยับออกมาจากกรุงเทพชั้นในเพียงไมกี่อึดใจ กลับรู้สึกห่างไกลจากความเป็นกรุงเทพฯได้อย่างน่าประหลาด
ทุ่งนาบางเขน ผืนใหญ่แห่งอยู่ บริเวณเลียบถนนกาญจนาภิเษก แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน หากมาทางวัดคู้บอนให้เลี้ยวซ้าวตรงมาเรื่อยๆ เจอป้ายซอยกาญจนาภิเษก ซอย 6 ก็ถึงจุดหมายเราแล้ว ที่นี่ประชาชนเกือบทั้งหมดยังคงยึดประกอบอาชีพด้วยวิถีดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายรุ่นพ่อแม่ คือ ‘เกษตรกร’ ด้วยการทำนาอยู่ ทำให้เรายังสามารถมองทัศนียภาพโดยรอบ ซึ่งประมาณการว่าคงมีอยู่หลายร้อยไร่เป็นสีเขียว ซึ่งเป็ช่วงที่ข้าวกำลังเจริญเติบโต มีความน่ามองและสร้างความประทับใจเป็นอย่างมาก
วันนี้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง’ ผอ.เขตบางเขน ทางโทรศัพท์ เพื่อนัดหมายลงสำรวจพื้นที่ไปพร้อมๆ กันแต่เนื่องจาก ผอ.เขต ติดภารกิจเร่งด่วนจึงให้ข้อมูลมาว่า เมื่อวันพุธที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนพร้อมคณะผู้บริหารเขตได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลสภาพแวดล้อมบริเวณโดยรอบ พบชาวบ้านในพื้นที่ยังคงรักษาไว้ ซึ่งวิถีชนบทในสังคมเมืองที่มีความเรียบง่าย จึงมองเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะแก่การสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชนบท และแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่จะเสริมสร้างรายได้แก่ชุมชนได้ในอนาคต โดยการพัฒนาตั้งใจจะไม่ใช้งบประมาณมาก่อสร้างสิ่งใดเพิ่มเติม จะสร้างจากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว
นอกจากเขตบางเขนจุดนี้ยังเชื่อมต่อกับเขตคลองสามวา และสายไหม จึงเตรียมหารือกับผู้อำนวยการเขตทั้งสอง ในการผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาให้ผืนนาบางเขนนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้ประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวรู้จักเขตทั้ง 3 ให้มากขึ้น ผ่านกิจกรรมทั้งการเดินสำรวจ หรือชวนมาปั่นจักรยานชมธรรมชาติ สัมผัสวิถีชีวิตชนบทที่ซุกซ่อนอยู่ไม่ไกลในเมืองหลวง
เบื้องต้นขณะนี้ผู้ว่าฯกทม.ได้อนุมัติทำถนนลาดยางมะตอยอย่างดีตลอดรอบชุมชนระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร เพื่อรองรับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตแล้ว
วางสายจาก ผอ.เขต ก็เดินไปสำรวจพื้นที่โดยรอบ ก็เจอชาวบ้านพาเราไปหาผู้นำชุมชนที่จะให้ข้อมูลกับเราได้ จึงได้ไปพบกับ ‘พี่ดำรงค์ สิงห์ทอง’ รองประธานชุมชนเกษตรก้าวหน้าลำรางหนองกง ชุมชนเจ้าของผืนนาแปลงใหญ่
‘พี่ดำรงค์’ บอกว่า ชุมชนแห่งนี้มี 104 หลังคาเรือน รวมแล้วก็ 400 กว่าคน อยู่ในพื้นที่แปลงนา ไร่สวนรวม ๆ แล้วเกือบ 1,000 ไร่ ส่วนใหญ่ยังคงยึดอาชีพดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คือทำนา ทำสวน เก็บผักขายตามฤดูกาล การเกษตรที่นี่ยังใช้ปุ๋ยคอก แทบจะไม่มีการใช้สารเคมีเลย เพราะทุกครั้งที่ออกไปนอกถนนใหญ่ ก็สูดควันพิษมามากพอแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มสารพิษให้กับตัวเองอีก
ส่วนการที่ กทม.โดยเขตบางเขน จะมาพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้พูดคุยกับชาวบ้านแล้ว ทั้งหมดเห็นด้วยที่จะเป็นอีกช่องทางให้ชุมชนมีรายได้ นำข้าวสาร ผัก ผลไม้ที่ปลูกเองมาขาย ร้านค้าในพื้นที่ก็จะมีรายได้จากการขายน้ำ หรืออาหารมากขึ้น ยืนยันว่าการเข้ามาพัฒนาจะไม่ทำให้วิถีชุมชนเปลี่ยนไป เพราะทุกคนที่นี่ยังรักและหวงแหนวิถี และพื้นที่อาศัยอย่างมาก แม้โดยรอบตอนนี้จะเริ่มเห็นหมู่บ้านจัดสรรค์ หรือนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่จากชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงเยอะมากขึ้นๆเรื่อยๆแต่ในพื้นที่ยืนกรานจะยังคงรักษาวิถีชีวิตเดิมเอาไว้ให้ลูกหลานในอนาคต เพราะถ้าขายออกไป จะต้องไปอยู่ตามหมู่บ้านจัดสรร หรือจะไปหาที่ที่มีบรรยากาศแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากมากหากจะหาอยู้ในกรุงเทพฯที่เดิม
ส่วนการพัฒนาพื้นที่หลังจากที่ กทม.เข้ามาทำถนนให้ใหม่หลังจากที่ต้องทนใช้ถนนดินลูกรังมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี พบว่ามีคนเริ่มรู้จักชุมชนมากขึ้นตอนเช้าเริ่มมีคนมาวิ่งออกกำลังกาย และปั่นจักรยานในพื้นที่ จึงได้เสนอเขตไปว่าหากจะทำขอให้เพิ่มไฟก้าส่องสว่าง รวมถึงกล้องซีซีทีวีเพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอการพูดคุยร่วมทั้ง 3 เขตว่าจะพัฒนาใหมออกมาในรูปแบบใด แต่ลึกๆมั่นใจว่าจะเป็นเรื่องดีทั้งต่อชุมชน และเปิดจุดท่องเที่ยวใหม่ในกรุงเทพฯได้ด้วย.-สำนักข่าวไทย