กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – กสอ.แนะเอสเอ็มอีใช้โอกาสเงินบาทแข็งค่านำเข้าเทคโนโลยี ปรับปรุงยกระดับการผลิตและคุณภาพสินค้า พร้อมแสวงหาโอกาสส่งออกทดแทนจีนที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า
นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการ กองพัฒนานัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวถึงเงินบาทที่แข็งค่ามากในช่วงนี้ว่า หากมองในแง่ของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี มีทั้งโอกาสและผลกระทบ ด้านโอกาส คือ เงินบาทที่แข็งค่าจะช่วยให้สามารถซื้อเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ไทยยังผลิตไม่ได้นำมาปรับปรุงยกระดับการผลิตของโรงงานและยกคุณภาพมาตรฐานการผลิตสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาด
อีกโอกาส คือ สามารถที่จะหาช่องทางส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมบางตัว และสินค้าเกษตรบางรายการไปจำหน่ายสหรัฐแทนสินค้าจากประเทศจีนที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าได้เช่นกัน เพราะไทยมีศักยภาพผลิตสินค้า เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล ส่วนผลกระทบโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ส่งออกมากบาทแข็งกระทบความสามารถในการแข่งขันและรายได้ที่ลดลงเมื่อแปรสกุลเงินต่างประเทศมาอยู่ในรูปเงินบาท
ในวันนี้ กสอ.ยังสานต่อโครงการ “Big Brother พี่ช่วยน้อง” ลงนามกับบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดี กสอ. กล่าวว่า กสอ.ร่วมมือกับเดลต้าในการสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าในการจัดตั้งธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ ภายใต้ “โครงการ Angel Fund” แต่ละปีมีทุนสนับสนุนสูงสุดถึง 4 ล้านบาท มอบให้รายละไม่เกิน 500,000 บาท ระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเดลต้าสนับสนุนเงินทุนกว่า 10 ล้านบาท ล่าสุดเป็นปีที่ 4 สนับสนุนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ ทางเดลต้าได้สนับสนุนอุปกรณ์ Industrial Automation Demo Kit สำหรับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ทั้งหมด 8 ชุด รวมถึงสนับสนุนบุคลากรเข้ามาให้ความรู้ เพื่อให้บุคลากรจากสถานประกอบการและบุคคลที่สนใจได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะทางด้านการผลิตแบบอัตโนมัติ และเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต เพื่อทุกสรรพสิ่งสำหรับงานด้านโรงงานอุตสาหกรรม หรือ Industrial Internet of Things – IIoT และระบบอัจฉริยะสำหรับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงแนวคิดเรื่องของแนวทางการบริหารธุรกิจ และเทคนิคด้านการจัดหาเงินทุนสำหรับธุรกิจ เพื่อช่วยยกระดับให้กับภาคผลิตของไทยให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคง
นายเซีย เซน เยน ประธานบริหาร เดลต้าฯ กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือครั้งนี้เป็นการจัดฝึกอบรมให้กับกลุ่มโรงงานในหัวเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องระบบควบคุมการทำงานอัตโนมัติ ประกอบด้วย ระบบส่วนติดต่อใช้งานกับเครื่องจักร (HMI), ระบบควบคุมการสั่งงานในโรงงาน (PLC) และระบบควบคุมมอเตอร์ (Drive) ที่สำคัญ คือ การให้ระบบทั้ง 3 ส่วนสามารถเชื่อมต่อการทำงานกันได้ ทำให้ระบบในโรงงานสามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติ นอกจากนี้ ยังครอบคลุมถึงมาตรการสนับสนุนอื่น ๆ ด้วย .-สำนักข่าวไทย