กรุงเทพฯ 22 มิ.ย. –กสิกรไทยประเมิน สัปดาห์หน้าเงินบาทอาจเดินหน้าแข็งค่าต่อหลังสัปดาห์นี้แข็งค่าสูงสุดรอบ 6 ปีและหุ้นไทยแตะระดับสูงสุดรอบ 8 เดือน
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย รานงานว่า เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ในสัปดาห์นี้ (17-21 มิ.ย.)โดยเงินบาทขยับอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ท่ามกลางแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ฯ เพื่อปรับโพสิชันก่อนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นและแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีที่ 30.79 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังผลการประชุมเฟด ซึ่งแม้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมรอบนี้ แต่ได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นสงครามการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ในวันศุกร์ (21 มิ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ 30.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (14 มิ.ย.)
ด้าน ดัชนีหุ้นไทย แตะระดับสูงสุดที่ 1,727.83 จุด ก่อนจะกลับมาปิดปลายสัปดาห์ที่ 1,717.14 จุด เพิ่มขึ้น 2.68% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75,145.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56.78% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ mai เพิ่มขึ้น 0.97% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 359.30 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทยย่อตัวลงช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์ ตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา โดยมีปัจจัยหนุนจากความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ความคาดหวังเชิงบวกต่อการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงสัญญาณการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยลดช่วงบวกลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนพ.ค. ยังคงหดตัวลง
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (24-28 มิ.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.60-31.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,710 และ 1,700 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,740 และ 1,765 จุด ตามลำดับ โดยจุดสนใจในประเทศ น่าจะอยู่ที่ผลการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)วันที่ 26 มิ.ย. และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน พ.ค. ของธปท. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ สัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จากถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด ตลอดจนการประชุม G20 ประเด็นด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รวมถึงรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนพ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ของยูโรโซน –สำนักข่าวไทย