กรุงเทพฯ 20 ส.ค.- วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ชี้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะ คำถามพ่วงให้ร่วมโหวตเลือกเท่านั้น แนะ หาก กรธ.ปรับแก้ร่าง รธน.ตามเจตนารมณ์ของ สนช. แล้วประชาชนไม่เห็นด้วย สามารถเข้าชื่อเสนอให้ศาล รธน.ตีความได้
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยถึงกรณีที่ สนช.เสนอเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงประชามติต่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เพื่อปรับแก้บทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญว่า คำถามพ่วงที่ประชาชนเห็นชอบไปแล้ว จะไปแตะต้องเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเมื่อถามว่า คำถามพ่วงตีความได้อย่างไร ส่วนตัวมองว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง น่าจะใช้รูปแบบไม่ต่างกัน คือ แต่เดิม เมื่อประชุมนัดแรกหลังจากได้ผู้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาแล้ว ประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากเสนอชื่อ และพรรคฝ่ายค้านเสนอชื่อ แล้วก็โหวตเลือกกัน ซึ่งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปกติ แต่เมื่อคำถามพ่วงผ่านประชามติจากประชาชน ซึ่งคำถามพ่วงเขียนไว้ชัดเจนว่าให้ ส.ส.และ ส.ว.ร่วมกันเลือก ดังนั้น ต้องเปิดประชุมรัฐสภา แล้วให้พรรคฝ่ายค้านและพรรครัฐบาลเสนอตัวตามบัญชีรายชื่อ แล้วก็โหวตร่วมกัน ใครได้เสียงมาก ก็สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ก็เป็นหลักปฏิบัติทั่วไป แต่ก็เกิดคำถามว่า หากไม่ได้ตัวนายกรัฐมนตรี และรายชื่อก็หมดจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไว้แล้ว จะทำอย่างไร ซึ่งตนก็ยังเห็นว่า เป็นหน้าที่ของแต่ละพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อขึ้นมาอีก เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาและร่วมกันโหวต ขณะที่ ส.ว.ก็ยังเสนอชื่อไม่ได้ เพราะคำถามพ่วงกำหนดไว้ให้ร่วมกันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น
“ในรูปแบบของคำถามพ่วงประชามติ ก็ไม่ได้มีคำว่า ให้มีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ มีแต่คำว่า ให้ร่วมเลือกเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการถกเถียงกันในวงสังคมว่า ส.ว.จะเข้าไปมีส่วนกับการเลือกนายกรัฐมนตรีได้อย่างไร แต่เมื่อท้ายที่สุด ประชาชนให้ ส.ว.ไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ก็ต้องไปร่วมเลือก แต่ไม่ได้ให้ไปเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี” นายวัลลภ กล่าว
นายวัลลภ ยังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สนช.บางคนได้ลงพื้นที่ไปชี้แจงคำถามพ่วงกับประชาชนว่า ส.ว. สามารถเสนอชื่อได้นั้น ส่วนตัวไม่ทราบ เพราะ สนช.ที่ลงพื้นที่มีจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ สมาชิก สนช.จะใช้การเปิดซีดีเนื้อหาการชี้แจงคำถามพ่วงประชามติของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นหลักในการชี้แจงต่อประชาชน ซึ่งเท่าที่ตนฟังจากซีดีนั้น ไม่ได้กล่าวถึงการให้ ส.ว.เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้หากสุดท้ายแล้ว กรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ของ สนช. ก็มองว่า จะเกิดผล 2 กรณี คือ เกิดผลความขัดแย้งในทางกฎหมาย ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งอาจจะเข้าชื่อเสนอให้ศาล รธน.ตีความว่า การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขัดหรือไม่กับคำถามพ่วงประชามติ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอย่างไร ก็จบไปตามนั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด และกรณีที่ 2 คือ หากประชาชนไม่เห็นด้วย ก็อาจเกิดการประท้วงออกมา แต่เชื่อว่า ในสถานการณ์แบบนี้ น่าจะประท้วงได้ยาก ดังนั้น หากประชาชนไม่เห็นด้วย และรู้สึกว่าการแก้ร่างรัฐธรรมนูญขัดแย้งกับคำถามพ่วง ก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เพื่อให้ได้ข้อยุติ
นายวัลลภ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวมองว่า การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามเจตนารมณ์ของ สนช.นั้น คงไม่ถือว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะเป็นผู้ตีความ เมื่อศาลตีความอย่างไร ก็ยุติตรงนั้น ซึ่งเมื่อ กรธ.ปรับแก้เสร็จแล้ว และประชาชนไม่เห็นด้วย ก็สามารถเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้เสร็จสิ้นกระบวนการที่ กรธ.จะต้องยื่นร่างรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
เมื่อถามว่า การให้ ส.ว.มีอำนาจเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ถือว่า มีอำนาจมากเกินไปหรือไม่ นายวัลลภ กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ที่ตนเข้าใจ คือ ส.ว.ชุดแรกต้องขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ให้ได้ โดยเฉพาะในช่วง 5 ปีแรก แต่ไม่ได้ไปถึงขั้นให้ ส.ว.ไปร่วมเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งส่วนตัวไม่ทราบว่า สนช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเจตนารมณ์นี้หรือไม่.-สำนักข่าวไทย