กทม. 30 พ.ค.- การฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลยังไม่ลงตัว โดยเฉพาะการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้มีการโยนหินถามทางเรื่องยุบสภาเพื่อล้างไพ่ และเลือกตั้งใหม่ มุมของกฎหมายและอำนาจในการดำเนินการจะทำได้หรือไม่
หลังมีการโปรดเกล้าฯ ตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการเลือกตำแหน่งสำคัญคือ นายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ แต่ในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาในการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีว่าจะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาเท่าใด สืบเนื่องจากปัจจุบันการต่อรองตำแหน่งเพื่อจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลไม่ลงตัว มีสูตรยุบสภาออกมาโยนหินถามทาง
เปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ของสูตรนี้ คือ ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ก่อน เมื่อพิจารณาจากเสียงของพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ ที่ดีลลงตัวแล้ว รวมกับเสียงสมาชิกวุฒิสภาจะได้เกิน 376 เสียง สามารถผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัย หลังจากนั้นจะมีการฟอร์มทีมรัฐบาลโดยไม่ต้องคำนึงถึงการต่อรองเก้าอี้ และไม่ง้อพรรคที่ยังดีลไม่ลงตัว
แต่เมื่อเข้าสู่การทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ต้องพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะจ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาเดือนมิถุนายนนี้ คือร่างงบประมาณประจำปี 2563 หากรัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้ผ่านกฎหมายนี้ได้จากเหตุรัฐบาลเสียงข้างน้อย ก็จะเป็นปัญหา เนื่องจากผูกพันกับงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจประกาศยุบสภา และทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการไป 2-3 เดือน ก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่
แต่หากต้องการจะยุบสภาในขณะนี้ คงต้องตีความตามรัฐธรรมนูญว่ามีอำนาจหรือไม่ การยุบสภาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีทั้งข้อกฎหมายและเหตุผลประกอบ ที่สำคัญต้องตอบสังคมให้ได้ และอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหา หากยุบสภาเพราะการเมืองไม่ลงตัว แต่เมื่อเลือกตั้งใหม่ บทเฉพาะกาลยังระบุไว้ว่าภายใน 5 ปี ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ไม่สามารถหลีกหนีวังวนเหล่านี้ได้. – สำนักข่าวไทย