ระนอง 20 ส.ค.- รองประธาน สนช.ระบุ เจตนารมณ์คำถามพ่วงของสนช. คือ หากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส.ว.ก็มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ยืนยัน สนช.ไม่ได้ทำเกินหลักการที่วางไว้
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวกรณีที่เจตนารมณ์ของ สนช.ที่ให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติว่า หลังจากคำถามพ่วงประชามติผ่านแล้วก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ต้องแก้ไขเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของคำถามพ่วง ก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยหลักการแล้วการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ของส.ส.ที่พรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อจำนวน 3 คนให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่หากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส.ว.ก็น่าจะมีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติไปแล้ว เพราะถือเป็นกระบวนการที่แก้ปัญหาจากก็อกแรกที่ไม่สำเร็จ โดยส.ว.ชุดใหม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีใหม่ซึ่งเป็นคนนอกได้ สนช.จึงเสนอไปยังกรธ. โดยไม่ได้มีการทะเลาะหรือขัดแย้งใดๆ ทั้งนี้ กรธ.จะเขียนลงในรัฐธรรมนูญอย่างไร สนช.ก็เคารพ แต่ยืนยันว่า ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ จากที่กระบวนการปกติเสนอไม่ได้
นายพีระศักดิ์ ยืนยันว่า เวทีชี้แจงคำถามพ่วงของ สนช. ไม่เคยบอกว่า ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ในครั้งแรก แต่ยอมรับว่า มีบางเวทีบอกว่าส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ หากครั้งแรกไม่สามารถโหวตนายกรัฐมนตรีได้ เพราะถือว่าเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหา แต่ กรธ.จะเห็นด้วยหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจของกรธ. ซึ่งการชี้แจงในเวทีต่างๆ ไม่ได้เป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะไม่มีเวทีไหนที่บอกว่าเสนอชื่อไม่ได้ทั้งนี้ไม่กังวล หากฝ่ายการเมืองจะนำประเด็นดังกล่าวไปฟ้องร้อง เพราะเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย และสนช.ได้ใช้สิทธิอย่างสุจริต
“มันเป็นการตีความกฏหมาย ซึ่งสนช.ก็มีความเห็นแย้งกัน แต่สุดท้ายก็ไปจบที่กรธ. ยืนยันว่า สนช.ไม่ได้เพิ่มอะไรนอกจากคำถามพ่วงที่ผ่านการทำประชามติและสนช.ไม่ได้ทำเกินหลักการที่วางไว้ การให้ส.ว.เสนอชื่อนายกฯไม่ได้ทำขึ้นหลังประชามติ แต่เกิดขึ้นก่อนในช่วงที่กรธ.ได้นำเสนอร่างแรกและให้ทุกฝ่ายร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปแก้ไข ซึ่งสิ่งที่กรธ.ไม่ได้แก้เราก็เสนอไปในคำถามพ่วง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ได้กำหนดให้สนช.สามารถเสนอคำถามพ่วงได้”นายพีระศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามย้ำว่า การให้ส.ว.ชุดใหม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เป็นการกรุยทางให้เสนอคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก เป็นกระบวนการตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ และขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่จะนำไปสู่สาระหลักสำคัญ ส่วนที่จะออกมาแบบไหนนั้น กรธ.ก็ยังไม่ได้ปฏิเสธโดยจะรับไปหารือกัน และการผลักดันส.ว.ชุดใหม่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ได้ต้องการเป็นใบเบิกทางให้สนช.กลับเข้ามาเป็นส.ว.สมัยหน้า
นายพีระศักดิ์ ยังกล่าวถึงการที่หลายฝ่ายเสนอให้ คสช.ปลดล็อคทางการเมืองว่า คสช.คงเป็นผู้ประเมินสถานะการณ์ทางการเมืองว่า ถึงเวลาหรือไม่ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้พูดมาตลอดว่าต้องทำหน้าที่ให้ประเทศชาติสงบ ถ้าไม่สงบก็อาจจะไม่มีการเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป แต่หากมีอะไรที่คาดไม่ถึงก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง ในส่วนของสนช.มีหน้าที่ในการเตรียมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ศึกษาโครงสร้างร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว.-สำนักข่าวไทย