สทนช.ถกรับมือน้ำหลากฤดูฝน

กรุงเทพฯ 27 พ.ค. – สทนช.เร่งหารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำฤดูฝน สั่งย้ำการจัดการภาวะฉุกเฉิน พร้อมกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ระดับภัย เพื่อเปิดศูนย์บัญชาการลดผลกระทบแต่ละช่วงภัย หวังเพิ่มประสิทธิภาพป้องผลกระทบวิกฤติน้ำครอบคลุมรอบด้าน


นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 6/2562 ว่า ที่ประชุมได้มีการหารือติดตามแนวโน้มการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ในปัจจุบัน สภาพน้ำท่า รวมถึงการบริหารจัดการน้ำและการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูฝน ปี 2562 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อซักซ้อม ทำความเข้าใจของทุกหน่วยงานร่วมกันในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะแนวทาง เงื่อนไข การแจ้งเตือน รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลภายใต้ระบบฐานข้อมูลและรูปแบบเดียวกัน ซึ่งจากการวิเคราะห์ คาดการณ์สถานการณ์ฝนขณะนี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า จะเริ่มมีฝนตกหนักตลอดสัปดาห์นี้บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  อาทิ แพร่ เชียงใหม่ อุตรดิตถิ์ น่าน ที่จะเกิดฝนตกหนัก และมีภูเขาหัวโล้นอยู่มาก ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และแจ้งเตือนพื้นที่ประสบภัยดินโคลนถล่มจากน้ำไหลหลากฉับพลัน โดยอ้างอิงข้อมูลปริมาณน้ำของของกรมทรัพยากรน้ำที่สถานีวัดน้ำฝนครอบคลุมกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งต้องเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนนี้ถึงมิถุนายนที่อาจจะเกิดผลกระทบได้

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากการคาดการณ์แนวโน้มฝนตกภาพรวมจะมีปริมาณฝนไม่มาก จะตกหนักเพียงบางจุดและปริมาณฝนมากเป็นช่วง ๆ โดยตั้งแต่ช่วงนี้ถึงกลางมิถุนายนจะตกหนักบริเวณภาคเหนือ ขณะที่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงสิงหาคม ก็จะเป็นภาคอีสาน และภาคกลางเล็กน้อย สถานการณ์ที่จะมีน้ำท่วมหนัก ก็ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแนวโน้มฝนน้อยกว่าปี 2560 และ 2561 รวมถึงแหล่งน้ำต่าง ๆ ยังสามารถรองรับปริมาณฝนได้อีกมาก โดยปริมาณน้ำในภาพรวมของประเทศขณะนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึง 5,000–6,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น เหตุการณ์ที่จะมีน้ำล้นสปริลเวย์โอกาสจะเกิดขึ้นได้น้อย ยกเว้นกรณีเกิดพายุ ซึ่งได้มีการคาดการณ์พายุจะเกิดในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนประมาณ 1-2 ลูก แต่เพื่อให้กลไกการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันกรณีหากเกิดภาวะวิกฤติจากน้ำ ระหว่างนี้ สทนช.ได้มีการหารือเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนของหน่วยงานเกี่ยวข้อง รวมถึงการรวบรวมข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน และกำหนดผู้ประสานงานของหน่วยงานที่ชัดเจน เมื่อมีสถานการณ์หรือเหตุบ่งบอกว่าจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติ เช่น มีแนวโน้มการก่อตัวของพายุ หรือปริมาณฝนตกต่อเนื่อง 3 วันมากกว่า 200 มม. ก็จะร่วมกันทำงานภายใต้ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคาดว่าศูนย์ฯ จะเปิดในช่วงเดือนกรกฎาคม โดยจะทำงานสอดคล้องกับการป้องกันสาธารณภัยของ ปภ.ควบคู่กันด้วย 


ส่วนประเด็นที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ คือ ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุ โดยเฉพาะภาคอีสาน สทนช.จึงได้เน้นย้ำหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ติดตามสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด หากปริมาณน้ำฝนน้อยอาจสุ่มเสี่ยงน้ำไหลเข้าอ่างน้อยก็อาจจะกระทบกับปริมาณน้ำต้นทุนในอนาคตได้ ต้องประสานกรมฝนหลวงขึ้นปฏิบัติการช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกทางด้วย 

สำหรับข้อกังวลในเรื่องของสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงบางพื้นที่ในช่วงเดือนกรกฎาคมนั้น ที่ประชุมคาดการณ์ว่าในเขตชลประทานไม่น่าจะมีปัญหา เนื่องจากช่วงนี้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ขณะที่ภาคเกษตรการปลูกพืชฤดูแล้งก็มีการเก็บเกี่ยวไปแล้วกว่า 90% มีการวางแผนการจัดสรรน้ำให้พ้นช่วงแล้งของหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ขณะที่การเพาะปลูกข้าวฤดูฝนก็มีการปลูกแล้วเกือบ 2 ล้านไร่ แต่ในพื้นที่นอกเขตชลประทานยังคงต้องมีการติดตามเฝ้าระวังเพื่อป้องกันผลกระทบอย่างใกล้ชิดด้วย 

นายสมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้สถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่จะบรรเทาลง เนื่องจากประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ฤดูฝนปี 2562 อย่างเป็นทางการแล้ว แต่จากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนที่ยังคงลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบให้บางพื้นที่ยังมีปัญหาภัยแล้ง ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 8 จังหวัด 18 อำเภอ 62 ตำบล 456 หมู่บ้าน ได้แก่ พิษณุโลก ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ นครราชสีมา มหาสารคาม ตราด ชลบุรี รวมถึงติดตามเฝ้าระวังบางจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค และที่ สทนช. ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มเติม โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากการคาดการณ์ปริมาณฝน 3 เดือน ปริมาณน้ำแหล่งน้ำขนาดเล็กน้อยกว่า 30% และปริมาณความชื้นในดิน โดย สทนช.ได้ประสานแจ้งข้อมูลพื้นที่ และขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเชิงป้องกันเพื่อลดความรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงฝนทิ้งช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม และเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยง และให้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณแก้ไขปัญหาภัยแล้งเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร่งด่วน.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ถังแก๊สระเบิด

ถังแก๊สระเบิดในโรงงานเหล็ก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เจ็บหลายราย

ถังแก๊สระเบิดในโรงงานเหล็กแห่งหนึ่ง อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างควบคุมเพลิงไหม้ เบื้องต้นมีรายงานผู้บาดเจ็บหลายราย และมีผู้ติดค้างอยู่ในโรงงานจำนวนมาก ล่าสุดคุมเพลิงและช่วยผู้ติดค้างภายในออกมาแล้ว

ปูนบำเหน็จ 5 ชั้นยศ “หมู่อาร์ม” ถูกรถขนต่างด้าวชนดับ

สุดสะเทือนใจ นำร่าง “หมู่อาร์ม” ผบ.หมู่ สภ.เมืองกำแพงเพชร ถูกรถกระบะขนแรงงานต่างด้าวแหกด่านพุ่งชนเสียชีวิต กลับมาบำเพ็ญกุศล ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปูนบำเหน็จ 5 ชั้นยศ

“อัจฉริยะ” ยื่นรื้อคดี “แตงโม” เชื่อโดนฆาตกรรม

“อัจฉริยะ” ยื่นหนังสือถึงอธิบดีอัยการภาค 1 ขอให้รื้อคดีการเสียชีวิตของ “แตงโม ภัทรธิดา” เผยผลชันสูตรไม่ตรงกับข้อมูลที่ตำรวจแถลงข่าว

ข่าวแนะนำ

ช้างป่าทับลาน

ไล่กันทั้งคืน! ช้างป่าทับลานยกโขลงหลายสิบตัวบุกพื้นที่เกษตร

ทีมเครือข่ายอาสา ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทับลาน ขับรถฝ่าความหนาวกระจายกำลังไล่ต้อนช้างป่าหลายสิบตัวบุกหากินพืชผลทางการเกษตร ให้ออกห่างจากหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต.จระเข้หิน จ.นครราชสีมา

น้ำท่วมสุราษฎร์

น้ำท่วมสุราษฎร์ฯ ยังกระทบ หยุดเรียนต่ออีก 2 วัน

สุราษฎร์ธานี ระดับน้ำท่วมขังยังส่งผลกระทบ บางจุดสูง 80-100 ซม. รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ขณะที่โรงเรียนแจ้งหยุดต่ออีก 2 วัน

เสือดาวแก่งกระจาน

ตื่นตา! เสือดาวโผล่โชว์ตัวกลางถนนแก่งกระจาน

ประทับใจ! เสือดาวโผล่โชว์ตัวกลางถนนแก่งกระจาน ไม่มีอาการกลัวคน นั่งนิ่งคล้ายกับโพสท่าให้นักท่องเที่ยวบันทึกภาพเก็บภาพความประทับใจ และสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจาน

อุตุฯ เผยไทยตอนบน อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาฯ ลมแรง

กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบน อุณหภูมิลดลง 1-3 องศาฯ กับมีลมแรง โดยภาคอีสานและภาคเหนือ อากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน อากาศเย็นในตอนเช้า กทม.-ปริมณฑล อุณหภูมิลดลง 1-2 องศาฯ