สงขลา 9 พ.ค.-สถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่ทวีความรุนแรง แหล่งน้ำแห้งขอด พืชผลการเกษตรเสียหาย ประชาชนเดือดร้อนหนัก
สภาพคลองอาทิตย์ ซึ่งเป็นลำคลองสายหลักหล่อเลี้ยงประชาชนในพื้นที่อำเภอสิงหนคร และ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ตอนนี้แห้งขอด จนเห็นพื้นดิน และสามารถลงไปเดินได้ มีหญ้าขึ้นปกคลุม สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ ที่เคยได้ใช้น้ำจากคลองอาทิตย์ในการดูแลพืชผลทางการเกษตร ทำให้พืชผลส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย บางส่วนยืนต้นตาย ชาวบ้านบอกว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ที่คลองอาทิตย์แห้งขอดแบบนี้
ไม่ต่างจากอ่างเก็บน้ำบ้านวังรางน้อย อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ตอนนี้มีสภาพแห้งขอด จนเกิดสันดอนดินและหญ้ารกทึบขึ้นเต็มพื้นที่ ไม่สามารถสูบน้ำผลิตประปาได้ กระทบต่อชาวบ้าน 400 หลังคาเรือน ต้องขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค หน่วยงานท้องถิ่นต้องนำรถบรรทุกน้ำไปขอสูบน้ำจากการประปาส่วนภูมิภาค อ.สีคิ้ว ระยะทาง 40 กิโลเมตร นำมาแจกจ่ายช่วยบรรเทาความเดือดร้อน
นายเอกชัย พรหมพันธ์ใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือเก่า เผยว่า แหล่งน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ทั้ง 10 แห่ง มีสภาพแห้งขอด แทบไม่มีน้ำผลิตประปา ขณะนี้ชาวบ้าน 14 หมู่บ้านกว่า 2,000 ครัวเรือน ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 12 ปี ที่ผ่านมาแม้มีพายุฤดูร้อน แต่เป็นเพียงพายุลม ไม่ค่อยมีฝน ต้องรอความหวังว่าจะมีฝนตกลงมาช่วยเติมน้ำในแหล่งน้ำ
ส่วนจังหวัดพะเยา อากาศที่ร้อนจัดส่งผลกระทบทำให้ลิ้นจี่ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอแม่ใจ ได้รับความเสียหาย ผลลิ้นจี่มีขนาดเล็กลง สภาพแตกและผิวมีรอยช้ำไหม้เป็นจำนวนมาก แถมยังได้ผลผลิตลดลงกว่าร้อยละ 40 ราคาเหลือเพียงกิโลกรัมละ 8 บาท ขณะที่ลิ้นจี่ที่สามารถคัดคุณภาพได้ราคากิโลกรัมละ 25 บาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วจะมีราคามากกว่า 35 บาทต่อกิโลกรัม นายนาวิน อินทจักร เกษตรจังหวัดพะเยา บอกว่า ในพื้นที่จังหวัดพะเยามีพื้นที่ปลูกลิ้นจี่จำนวน 14,000 ไร่ ซึ่งคาดการณ์จะได้ผลผลิตประมาณ 7,000 ตัน แต่ปีนี้มีสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ผลผลิตลดลงเหลือเพียงประมาณ 4,000 กว่าตัน ซึ่งทางเกษตรจังหวัดพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรใช้กระบวนการผลิตแบบเกษตรแปลงใหญ่ที่สามารถควบคุมคุณภาพได้ และลดปัญหาความเสียหายดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย