ญี่ปุ่น 1 พ.ค. – 3 ทศวรรษของยุคเฮเซได้สิ้นสุดลงแล้ว วันนี้ สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ มีพระปฐมบรมราชโองการ ให้คำมั่นจะสร้างความสมัครสมานสามัคคี เคียงข้างพสกนิกรตลอดไป เป็นการเริ่มต้นยุค “เรวะ” ด้วยการสืบสานพระราชปณิธานแห่งพระราชบิดา ติดตามจากรายงานพิเศษ “เฮเซ..สู่..เรวะ จักรพรรดิรัชศกใหม่แห่งญี่ปุ่น” ตอนสุดท้าย
สืบสานราชวงศ์เบญจมาศ อายุยาวนานกว่า 2,000 ปี สมเด็จพระจักรพรรดิ องค์ที่ 126 ขึ้นครองราชย์ พร้อมนำญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคใหม่แห่งรัชศกเรวะ
ปฐมบรมราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ สะท้อนความยึดมั่นสืบสานแนวทางของพระราชบิดา ที่ไม่เพียงทรงครองราชย์สืบรัชสมัยหนึ่งเท่านั้น แต่ทรงนำญี่ปุ่นเปลี่ยนผ่านสถานะของจักรพรรดิที่ผูกโยงกับเทพเจ้า ตามคติที่ว่าสืบเชื้อสายจากสุริยเทวี
เมื่อครั้งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ เสด็จพระราชสมภพเมื่อปี 2476 ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในยุคแห่งสงคราม สถานะของสถาบันจักรพรรดิยังเป็นสถาบันศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเทพ จนญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับหลังสงคราม ที่มีมาตราบัญญัติว่า จักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น
จนเมื่อขึ้นครองราชย์ในปี 2532 สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ทรงเน้นย้ำถึงความเป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นตามรัฐธรรมนูญ ตลอดการครองราชย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่สะท้อนหลักการนี้
ทรงครองตนอย่างสมถะ เรียบง่าย และใกล้ชิดพสกนิกรของพระองค์ พร้อมกับเชิดชูสันติภาพ เสริมเกียรติภูมิของชาติให้ก้าวพ้นยุคแห่งสงคราม
ในพระราชดำรัสสุดท้ายในฐานะประมุข เมื่อวานนี้ พระองค์ยังทรงเน้นย้ำถึงสิ่งที่ยึดมั่นตลอดการครองราชย์
สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น ผ่านยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงตลอดประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี ทั้งยุคแห่งอำนาจ ยุคขุนนาง และยุคทหารนิยม มาจนถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ พ้นรัชสมัยเฮเซ แต่ความหมายของคำว่า เฮเซ คือ “ความสงบสุขทั่วแผ่นดิน” ยังจะเป็นเสาหลักของสถาบันแห่งความภาคภูมิใจของชาติต่อไป. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- พระประวัติมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ
- พระราชประวัติสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ
- พระราชพิธีขึ้นครองราชย์แห่งราชวงศ์เบญจมาศ
- สืบสานสันติสุข จากยุคเฮเซ..สู่..เรวะ
- ญี่ปุ่นตื่นตัวรับรัชสมัยใหม่ “เรวะ”
- เครื่องราชกกุธภัณฑ์ 3 สิ่ง และเกร็ดพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ญี่ปุ่น