อาคารกีฬาเวสน์ 1 พ.ค. – ผู้ใช้แรงงานยื่นข้อเสนอ 10 ข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ขอเกษียณอายุที่ 60 ปี และผู้ที่ลาออกในอายุ 55 ปี ให้ได้รับสิทธิ์เท่าคนเกษียณอายุ
ที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง กระทรวงแรงงาน จัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2562 คำขวัญวันแรงงานปีนี้ คือ แรงงานก้าวหน้าเศรษฐกิจก้าวไกล เทิดไท้องค์ราชัน โดยมีคณะกรรมการจัดงานจาก 15 สภาองค์การลูกจ้าง พร้อมด้วยสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และกลุ่มแรงงานนอกระบบ มาร่วมกิจกรรม ซึ่งทั้ง 17 องค์กรได้เคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน จากบริเวณหน้าสนามกีฬากองทัพบก มายังอาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เพื่อมายื่นข้อเสนอข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เดินทางมาป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2562 นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดบูธนิทรรศการการให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน และการเล่นเกมตอบปัญหาชิงรางวัลมากมายให้พี่น้องแรงงานร่วมสนุก
โดย นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2562 จะเป็นตัวแทนเสนอข้อเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี โดย 10 ข้อเรียกร้องประกอบไปด้วย
1. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างระหว่างประเทศ
– ฉบับที่ 87 เรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
– ฉบับที่ 98 เรื่องการเจรจาต่อรอง
2. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่องพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. … ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ผ่านมาประชาพิจารณ์มาแล้ว เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภาฯ โดยเร่งด่วน
3. ขอให้รัฐบาลแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
3.1 กำหนดการเกษียณอายุของลูกจ้างอยู่ที่ 60 ปี ในกรณีลูกจ้างมีอายุ 55 ปี ประสงค์จะออกจากการเป็นลูกจ้าง ให้นายจ้างอนุญาตให้ลาออกได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณทุกประการ
3.2 ให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการหามาตรการให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ตามมาตรา 11/1 อย่างเคร่งครัด
4. ให้รัฐบาลปฏิรูป แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้
4.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท
4.2 ในกรณีผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้มีสิทธิรับเงินรับบำนาญต่อไป และหรือผู้ประกันตนที่รับบำนาญชราภาพ ให้คงสิทธิไว้ 3 กรณี ได้แก่ การรักษาพยาบาล ทุพพลภาพ และค่าทำศพ เหมือนเดิม
4.3 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อตามมาตรา 39 การคำนวณ เดิมค่าจ้าง 60 เดือน เป็นค่าทดแทนต่าง ๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33
4.4 เพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลผู้ประกันตน มาตรา 40 เหมือนผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 และมาตรา 39
4.5 ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15 – 60 ปี ขยายเป็น 15 – 70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
4.6 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน
5. ให้รัฐบาลรวมกองทุนเงินทดแทนกับกองความปลอดภัยแรงงาน และยกระดับเป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน
6. ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เข้าสู่การพิจารณาต่อรัฐสภา โดยเร่งด่วน เพื่อเป็นกองทุนของลูกจ้าง
6.1 ขอให้รัฐบาลส่งเสริมการออมของลูกจ้างในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ในทุกสถานประกอบกิจการ
7. ขอให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้
8. ขอให้รัฐบาลจัดระบบสวัสดิการ หรือกองทุนสวัสดิภาพของรัฐวิสหกิจให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งที่ยังมีสถานภาพเป็นพนักงาน และที่พ้นสภาพความเป็นพนักงาน ให้ได้รับไม้น้อยกว่าลูกจ้างภาคเอกชนที่ได้รับตามระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39
9. ให้กระทรวงแรงงานปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 74 รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ
10. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2562
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ข้อเสนอทั้งหมดมีบางส่วนที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้แล้ว แต่ส่วนที่เหลือขอทบทวนและพิจารณาอีกครั้งก่อน โดยจะส่งต่อข้อเรียกร้องให้กับรัฐบาลชุดใหม่ด้วย ยืนยันที่ผ่านมารัฐบาลได้ดูแลกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดระบบการจ้างงาน การคืนสิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน และปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้ดียิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย