นนทบุรี 12 เม.ย.- พื้นที่ผลิตพลังงานและการทำการเกษตรสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไปดูงานวิจัยการปลูกพืชใต้แผงโซลาร์เซลล์ สามารถเติบโตได้ดี
แผงลายสี่เหลี่ยมห่างๆ ตาสกอตที่เห็นนี้ เป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่แตกต่างจากแผงทั่วไป คิดค้นโดยนักวิชาการไทย เป็นงานวิจัยแห่งแรกของโลก แผงโซลาร์กึ่งใส ซิลิคอนชนิดผลึก Polycrystalline Silicon Solar Cell ออกแบบเพื่อให้พื้นที่ใต้แผงโซลาร์สามารถปลูกพืชได้ แก้ปัญหาการผลิตพลังงานทดแทน แย่งพื้นที่ทำการเกษตร และเพื่อให้พื้นที่ด้านล่างสามารถเข้าไปทำการเกษตรได้สะดวก จึงต้องยกแผงให้สูงขึ้นสูงประมาณ 4 เมตร
แปลงข้าวทดลองแห่งนี้ อยู่ติดโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ใช้ข้าว Rice Berry ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 130-150 วัน พบว่าพื้นที่ใต้แผงโซลาร์และนอกแผงคุณภาพไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ใต้แผงจะเกี่ยวช้ากว่า 10 วันเท่านั้น ที่นี่ยังเป็นระบบสมาร์ทฟาร์ม ใช้อินเทอร์เน็ต ติดตามข้อมูลแบบ Real Time วัดค่าความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้นอากาศ ความเร็วลม ระดับน้ำ ความแข็งแรงของโครงสร้าง และ Power Flow ข้าวก็ปลูกแบบออร์แกนิก ใช้กากชากำจัดหอยเชอรี่ ใช้สารสะเดาป้องกันแมลง ไล่นกโดยใช้คลื่นเสียง ไล่หนูด้วยวิธีควบคุมระดับน้ำ
ถ้าถามถึงต้นทุน ระบบทดลองโซลาร์ลายสกอต นำร่องนี้ต้นทุนสูงมากราว 15 ล้านบาท ทีมวิจัยระบุว่า หากผลิตแผงโซลาร์เชิงพาณิชย์ ปริมาณสูง ราคาจะต่ำลงแข่งขันกับแผงทั่วไปได้ หากเป็นอย่างนี้ชาวบ้านก็มีโอกาสผลิตไฟฟ้าใช้เอง ควบคู่ปลูกผักปลูกพืชใต้แผง ลดค่าครองชีพได้อีกทาง.-สำนักข่าวไทย