กรุงเทพฯ 13 มี.ค.-กระทรวงพลังงานย้ำผู้ประกอบการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ 12,725 เมกะวัตต์ ในขณะที่วงดีเบตพลังงาน เห็นค้านควรส่งเสริมพืชพลังงานทดแทนดีกว่า โดย ดึง ปตท. เป็นแม่งานหลักส่งเสริม
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผย ชี้แจงผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ว่า เนื่องจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยระยะยาว(PDP2018)ปีพ.ศ.2561-80 กำหนดซื้อไฟฟ้าโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัยหรือโซลาร์ภาคประชาชน 10,000 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่(โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) 2,725 เมกะวัตต์ รวม 12,725 เมกะวัตต์ สูงกว่าแผนเดิมถึง 5 เท่า ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องการส่งสัญญาณคือต้องการให้เอกชนได้วางแผนการลงทุนได้ทันทีเพราะเป็นตลาดที่ใหญ่จะทำให้มีความต้องการใช้แผงและผู้ติดตั้งจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการจะต้องเร่งพัฒนาบุคคลากรและช่างเทคนิคต่างๆ รองรับการติดตั้งและการบำรุงรักษาหลังการขายเพื่อให้มีมาตรฐาน ฯลฯ
สำหรับโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 10,000เมกะวัตต์ภายใต้แผนพีดีพี 2018 หากคำนวณเป็นหลังคาที่อยู่อาศัยจะมีสูงถึง 2 ล้านหลังคาเรือน โดยจะมีการรับซื้อช่วง10 ปีแรกนำร่องปีละ 100 เมกะวัตต์ก่อน โดยวันที่ 20 มี.ค.นี้ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)จะเปิดชี้แจงเกณฑ์และเงื่อนไขโดยละเอียดอีกครั้ง ส่วนโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ 2,725 เมกะวัตต์มอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ไปเปิดประมูลการติดตั้งนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จากนั้นจะทยอยในเขื่อนอื่นๆตามที่กฟผ.ศึกษาไว้
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สกพ.)กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะพิจารณาเกณฑ์และรูปแบบการสนับสนุนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนระยะที่ 1 วันที่ 15 มี.ค.นี้ เปิดรับฟังความคิดเห็นระหว่าง 18 มี.ค.-1เม.ย. 62 และคาดว่าจะเปิดให้มีการรับข้อเสนอพ.ค.-ก.ค. 62 ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณามิ.ย.-ส.ค. 62 และลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ต.ค. 62
สำหรับแผนการรับซื้อกลุ่มเป้าหมายเป็นภาคครัวเรือน โดยต้องเป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้าประเภทที่ 1 (บ้านที่อยู่อาศัย) ติดตั้งน้อยกว่า 10 กิโลวัตต์(KWp)/ มิเตอร์ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาทต่อหน่วยในระยะเวลารับซื้อส่วนเกิน 10 ปี ยอดรวมทั้งโครงการไม่เกิน 100 เมกะวัตต์กำหนดจ่ายไฟเชิงพาณิชย์(COD)ปี 2562 พื้นที่รับซื้อใครยื่นมาก่อนได้ก่อน หรือ First Come First Serve ผ่านระบบออนไลน์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) โดยจะรับซื้อในพื้นที่ กฟน. 30 เมกะวัตต์ และ กฟภ. 70 เมกะวัตต์
ในงานดีเบตส่องนโยบายพลังงาน #เลือกตั้ง62 จัดโดย กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) โดยมีตัวแทนจาก5 พรรค มาร่วมงานโดยทุกพรรคส่งเสริมทิศทางพลังงานทดแทน และเห็นว่า ปตท. รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ควรจะเป็นแกนหลักในการส่งเสริม ส่วนเรื่องโซลาร์นั้น ตัวแทนพรรคภูมิใจไทยและพรรคพลังธรรมใหม่ ไม่ค่อยเห็นด้วยในการส่งเสริม เพราะเป็นการนำเข้าแผงเป็นหลักประโยชน์ตกกับต่างประเทศ
ตัวแทนพรรคภูมิใจไทยภูมิใจไทย เสนอว่าควรส่งเสริมพืชพลังงานนำปาล์มมาผลิตไฟฟ้า ให้ปตท.ทำหน้าที่ส่งเสริมพืชพลังงานเพิ่มปีละ25%จนครบ100%ใน4ปี,พรรคพลังธรรมใหม่ เสนอตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมาดูแลพลังงาน ลดราคาน้ำมัน5 บาท/ลิตร ยกเลิกสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่ไม่เป็นธรรม
ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ ไม่เห็นด้วยที่ต้องตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติหากมีปัญหาก็แก้ไขการกำกับดูแล และเน้นขนส่งสาธารณะ,อาคารประหยัดพลังงาน และไม่เห็นด้วยอุดหนุนราคาพลังงาน , พรรคพลังประชารัฐ ส่งเสริมกลไกตลาด ส่งเสริมพลังงานทดแทนและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เน้นให้ บมจ.ปตท.และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.ดูแลความมั่นคงดูแลราคาพลังงาน ดูแลดีเซลไม่เกิน30 บาท/ลิตร ดูแลราคาแอลพีจี และพัฒนานวัตกรรมใหม่ของประเทศซึ่งในส่วนของปาล์มจะต้องประกันราคา 4 บาท/กก. โดยนำมาผลิตไฟฟ้าและไบโอดีเซลบี7 พร้อมส่งเสริมความสมานฉันท์ของภาคพลังงาน -สำนักข่าวไทย