กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – กสอ.โชว์ผลสำเร็จศูนย์ ITC 4.0 – ศูนย์ Thai-IDC เอสเอ็มอีแห่ใช้บริการ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5,000 ล้านบาท เดินหน้ารุกบริการปี 62
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) เพื่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถปรับโครงสร้างการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ่านกลไกของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 105 แห่ง ในปีงบประมาณปี 2561 พบว่ามีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการ 3,000 ราย สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 1,300 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจประมาณ 2,500 ล้านบาท นับเป็นการยกระดับเอสเอ็มอีให้สามารถต่อยอดนวัตกรรม และงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0
ปัจจุบันศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ 105 แห่ง โดยเป็นการดำเนินงานของ กสอ. 13 แห่ง คือ ส่วนกลางที่ กสอ. กล้วยน้ำไท 1 แห่ง ส่วนภูมิภาคตั้งอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 12 แห่ง และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 76 แห่ง นอกจากนี้ ยังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เป็นเครือข่ายพร้อมให้บริการ ประกอบด้วย ITC-SME ดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) 13 แห่ง CoRE-ITC ดำเนินการโดยสถาบันไทย-เยอรมัน บริการด้านระบบอัตโนมัติ 1 แห่ง Food-ITC ดำเนินการ โดยสถาบันอาหาร บริการด้านอาหาร 1 แห่ง และ Recycle-ITC ดำเนินการโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) บริการด้านการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ 1 แห่ง
นอกจากนี้ กสอ.ยังได้ขยายขอบเขตการทำงานของศูนย์ ITC 4.0 เชื่อมโยงไปยังศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) ที่มีอยู่ 13 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยการเชื่อมโยงบูรณาด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยในปี 2561 ศูนย์ฯ ได้ให้บริการในด้านต่าง ๆ ประกอบด้วย การบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ 530 ผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงนักออกแบบสู่สถานประกอบการเพื่อพัฒนากระบวนการออกแบบ 360 กิจการ สร้างนักออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ 300 ราย พัฒนาองค์ความรู้ด้านการออกแบบแก่บุคลากร 1,780 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจ 2,875 ล้านบาท
“ปีที่ผ่านมาศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 รวมถึงศูนย์ Thai-IDC มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้การตอบรับใช้บริการทั้ง 2 ศูนย์จำนวนมาก สามารถสร้างมูลค่ารวม 5,375 ล้านบาท ด้วยการบริการของศูนย์ทั้ง 2 แห่ง ที่มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัย รวมทั้งการพัฒนาออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายกอบชัย กล่าว
นายกอบชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 จนสามารถยกระดับการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ บริษัท บัวทอง ฟู้ด แอนด์ เบเวอร์เรจส์ ประเทศไทย ผู้ผลิตอัญชันมะนาวผงสำเร็จรูปพร้อมชงและเก็กฮวยผงสำเร็จรูปพร้อมชงจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้ามาใช้บริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ในการออกแบบปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ใหม่ พร้อมออกแบบฉลากสินค้าเพื่อสร้างแรงจูงใจในการซื้อสินค้า ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น 147,000 บาทต่อปี
บริษัท เคอร่าไทล์ จำกัด ผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิก เข้ามาใช้บริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จ.ลำปาง ลดต้นทุนวัตถุดิบและเชื้อเพลิง โดยการรีไซเคิลจากวัสดุแก้วเหลือใช้มาเป็นส่วนผสมในน้ำยาเคลือบกระเบื้องเซรามิก ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าได้ 250 ล้านบาทต่อปี และบริษัท ทีเอ็นฟาร์ม เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตสมุนไพรผสมถั่งเช่าและถั่งเช่าสกัดแคปซูล ใช้บริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 จ.อุบลราชธานี ในการปรับปรุงโรงเพาะเลี้ยงถั่งเช่าให้เป็นระบบ สมาร์ทฟาร์มมิ่งเพื่อสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้น มีการออกแบบพัฒนาฉลากและบรรจุภัณฑ์ โดยนำระบบซอฟท์แวร์ 3 มิติ มาใช้ผลิตต้นแบบที่เสมือนจริง ก่อนตัดสินใจผลิตบรรจุภัณฑ์จริง ทำให้ตรงกับความต้องการของผู้ผลิตสามารถเพิ่มยอดขาย 1.8 ล้านบาทต่อปี . – สำนักข่าวไทย