สำนักข่าวไทย 3 มี.ค.-เลขาธิการแพทยสภาชี้ การุณยฆาต หรือ mercy killing เป็นการแสดงเจตจำนงต้องการฆ่าตัวตาย ของผู้ที่มีสติสัมปชัญญะดี ซึ่งทำได้ในบางประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ หรือในสหรัฐอเมริกาบางรัฐเท่านั้น ส่วนในประเทศไทยมี มาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพ ที่ผู้ป่วยสามารถแสดงเจตจำนงการ จากไปหรือ living will ไม่ให้แพทย์ใช้เครื่องช่วยชีวิต เมื่อถึงนาทีวิกฤติ เพื่อการจากไปอย่างสงบตามธรรมชาติ
พล.อ.ต.นายแพทย์อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภาเปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้เดินทางไปทำการุณยฆาต ที่สวิตเซอร์แลนด์ เป็นไปตามกฏหมาย ที่มีบางประเทศ ในยุโรปและบางรัฐในสหรัฐอเมริกา อนุญาตให้ทำได้ แต่กระบวนการต้องเป็นไปตามกฏหมายรองรับ มีขั้นตอน เงื่อนไขที่ชัดเจน ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ขณะที่ในโอกาสที่จะเกิดการุณยฆาตแบบนี้ในไทย เป็นไปได้ยากมาก ด้วยเหตุผลหลายอย่างทั้งการรักษาพยาบาล ข้อกำหนดของโรคที่มีความจำเป็นต้องทำการุณยฆาต รวมทั้งระบบประกันชีวิต ฯลฯ
ขณะที่ประเทศไทยมี ม. 12 ในพระราชบัญญัติสุขภาพ ที่มีใช้นานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก หรือที่เรียกกันว่าการแสดงเจตจำนงในการจากไป หรือการตายแบบธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยจะปฏิเสธการรักษา หรือการยื้อชีวิตด้วยอุปกรณ์ใดใดก็ตาม โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ล่วงหน้า เรียกว่า Living Will มีผลใช้บังคับกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ญาติ โดยเฉพาะแพทย์ที่ทำการรักษา ที่จะต้องเคารพเจตนา ของผู้ป่วยที่ปฏิเสธการรักษาตามที่ได้แสดงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้
ซึ่งปัจจุบัน ยังพบว่ามีผู้ป่วยน้อยราย ที่จะแสดงเจตจำนงนี้ เลขาธิการแพทยสภา จึงขอให้ผู้ที่รับข่าวสารอย่าสับสน กับคำว่าการุณยฆาต ที่มีเฉพาะบางประเทศในยุโรปและในสหรัฐอเมริกาบางรัฐ ที่มีกฎหมายรองรับ ที่แตกต่างจาก Living Will หรือการปฏิเสธการรักษาในผู้ป่วยที่ต้องการตายแบบธรรมชาติ ซึ่งได้บรรจุอยู่ในพระราชบัญญัติสุขภาพของไทยแล้ว.- สำนักข่าวไทย