กรุงเทพฯ 26 ก.พ. – ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ม.ค.62 อยู่ที่ 48.0 ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน สะท้อนเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า และไม่โดดเด่น หวังเลือกตั้งช่วยเงินสะพัด สงครามการค้าไม่รุนแรงไปกว่าเดิม หนุนจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 4
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือนมกราคม 2562 ซึ่งสำรวจจากผู้นำหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศและ กทม. โดยสอบถาม ประธานหอการค้า รองประธานหอการค้าและเลขาธิการหอการค้า โดยสำรวจระหว่างวันที่ 28 มกราคม-8 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 46.0 ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ส่วนมุมมองอนาคตในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 49.9 ค่าดัชนีทุกรายการต่ำกว่าปกติ และต่ำสุดครั้งแรกในรอบ 13 เดือนของการสำรวจ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมกราคม 2562 อยู่ในระดับ 48.0 จากที่เคยอยู่ในระดับ 48.4 ในเดือนธันวาคม 2561 นับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนและดัชนีฯ ไม่เคยอยู่เหนือกว่าระดับปกติที่ระดับ 50 และหากพิจารณารายภาคจะพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยมีเฉพาะส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนที่เหลือดัชนีความเชื่อมั่น ฯ ลดลงทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่ต้องการให้ดำเนินการ ได้แก่ การกระตุ้นและการพัฒนาเศรษฐกิจ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและคมนาคมในประเทศ การแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ มาตรการเพิ่มรายได้และกำลังซื้อให้ประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ การสร้างความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และการชี้แจงการใช้งบประมาณของภาครัฐเพื่อความโปร่งใส
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนมกราคม 2562 อยู่ในระดับ 48.0 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้าและไม่โดดเด่น และยังกังวลทิศทางในอนาคต โดยมองว่าภาคการเกษตรยังมีสัญญาณแย่ลงมีการตอบถึงร้อยละ 38 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่โดดเด่น แต่คาดหวังว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ น่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในจังหวัดต่าง ๆ ที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ แต่การสำรวจครั้งนี้จัดทำเดือนมกราคม จึงยังไม่มีปัจจัยนี้เข้ามาช่วย ด้านการท่องเที่ยวมกราคมที่ผ่านมา พบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนยังไม่กลับมาท่องเที่ยว แต่คาดว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้นักท่องเที่ยวจีนน่าจะกลับมาทำให้การท่องเที่ยวคึกคักขึ้นอีกครั้ง และจากการที่ราคาสินค้าเกษตรในภาคใต้ยังไม่ดีขณะที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเต็มที่ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยภาคใต้ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน แต่หวังว่าเดือนกุมภาพันธ์นี้จะดีขึ้นจะเป็นเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยว่าจะปรับดีขึ้นหรือแย่ลง
ส่วนประเด็นที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ สงครามการค้าทำให้ดัชนีฯ ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือนตั้งแต่พฤศจิกายน 2561-มกราคม 2562 ทำให้ผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดภายในประเทศมีสัญญาณซึมตัว แต่บรรยากาศไม่ถือว่าผิดปกติรุนแรง ยังมีความเข้มแข็งในภาคอุตสาหกรรมยังเกินระดับ 50 ที่เป็นค่าปกติทั้งของภาคกลาง ภาคตะวันออก และกรุงเทพมหานครและปริมลฑล
ทั้งนี้ มองว่าหากสงครามการค้าไม่รุนแรงไปกว่านี้ซึ่งก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น และอังกฤษรอมชอมกรณี BREXIT ขณะที่บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศกลับมาจากเงินสะพัดช่วงเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงผลจากการมีพระราชพิธีสำคัญในประเทศไทย คาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด และคาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้ น่าจะได้นายกรัฐมนตรีได้รัฐบาลใหม่ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ รัฐบาลมีการใช้จ่ายงบประมาณทั้งงบลงทุนและงบปกติและเร่งรัดการเบิกจ่าย คาดหวังว่าจะบริหารจัดการเงินบาทที่เหมาะสมเพื่อเอื้อต่อการส่งออกของไทยขยายตัวร้อยละ 4 ต่อปี โดยค่าเงินบาทอยู่ในกรอบที่เหมาะสมไม่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งขันของไทย โดยค่าเงินบาทที่อยู่ในช่วงใกล้ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย รวมถึงคาดหวังการเมืองมีการเลือกตั้งผ่านไปด้วยดี ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 สามารถที่จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4 ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่เปิดมาเดือนมกราคมเดือนแรกของปีนี้ที่ไม่สวยมากนัก แต่คาดกุมภาพันธ์เป็นตัววัดเศรษฐกิจไทยจะไปในทิศทางใด เบื้องต้นคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.5-3.8 เนื่องจากปีที่ผ่านมาช่วงเดียวกันฐานสูงที่เติบโตที่ร้อยละ 4.9 .-สำนักข่าวไทย