นนทบุรี 26 ก.พ. – ผู้อำนวยการสถาบันอัญมณีฯ เผยหลังนำร่องบางจังหวัดพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ส่งผลรูปลักษณ์สวยเก๋ทันสมัยเพิ่มมูลค่าตัวสินค้าได้จริง เดินหน้าดันจังหวัดอื่นเพิ่มศักยภาพสู่ตลาดสากล
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า หลังจากสถาบันอัญมณีร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงภาพลักษณ์สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับส่วนภูมิภาคตั้งแต่ปี 2560 โดยคาดหวังเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก ซึ่งมีเป้าหมาย 15 จังหวัดทั่วประเทศที่ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ เพื่อพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ของดีของเด่นในจังหวัดนั้น โดยดำเนินโครงการ 8 จังหวัด แบ่งเป็น 3 จังหวัดนำร่อง คือ เชียงใหม่ น่าน สุโขทัย และ 5 จังหวัด ได้แก่ แพร่ สุรินทร์ เพชรบุรี ตราด และสตูล อยู่ระหว่างค้นหาอัตลักษณ์โดดเด่นแต่ละจังหวัดมาปรับใช้ในการออกแบบเครื่องประดับให้มีความสวยงาม ร่วมสมัย และสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ได้รับรายงานผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เข้าร่วมโครงการปรับรูปแบบสินค้ามีความทันสมัยตอบรับแฟชั่นของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยสวยหรูดูดีมีคุณภาพมากขึ้นสามารถเพิ่มยอดมูลค่าสินค้าจากเดิมยอดขายต่อปีเพียงร้อยละ 5-10 แต่หลังจากปรับยอดขายเพิ่มขึ้น ซึ่งบางรายมียอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการนอกจากพัฒนาสินค้าให้มีอัตลักษณ์โดดเด่นในจังหวัดแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มตัวสินค้าในจังหวัดนั้น ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้น เมื่อเป็นสินค้าของดีในจังหวัดแล้ว ยังสามารถนำสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยไปในตลาดโลกได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งเสียงตอบรับสินค้ากลุ่มนี้จากนักท่องเที่ยวชาวจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สหรัฐ ยุโรป แม้แต่ตะวันออกกลางมีคำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มนี้กันเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ สถาบันอัญมณีได้กำหนดแนวทางปีนี้จะต้องลงพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อเร่งพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นในจังหวัดอื่น ๆ ที่อยู่ในแผนงาน ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และ นครศรีธรรมราช โดยเน้นอบรมตามโครงการพัฒนารูปแบบและคุณภาพสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ระดับฐานรากให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณีของโลก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตพลอยสี และศูนย์กลางการค้าและแหล่งลงทุนด้านอัญมณีและเครื่องประดับโลกอย่างแท้จริง โดยมีแผนจัดงานเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี” “International Chantaburi Gems and Jewelry Festival 2019” ระหว่างวันที่ 4 – 8 ธันวาคม 2562 นี้ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้กับความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชนมองว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังมีอัตราการเติบโตดี คาดว่าปี 2562 จะเติบโตร้อยละ 1-3 หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 13,000-14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐได้แน่นอน เพราะด้วยการปรับสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติได้ดีและเป็นที่ยอมรับเพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย