กรุงเทพฯ 17 ก.พ.- ปลัดเกษตรฯ ชี้มติการจำกัดใช้สารเคมี 3 ชนิดเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ วัตถุอันตราย มีผู้แทนจากกระทรวงเกษตรระดับอธิบดี 5 กรม ขอให้ทุกฝ่ายศึกษามติ ก่อนจะตำหนิกระทรวงเกษตรฯ
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังรอรับหนังสือมติการพิจารณาทบทวนการควบคุมสารพาราควอตอย่างเป็นทางการ แต่ได้รับรายงานว่า คณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งมีรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เห็นชอบให้คงมติเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 61 ต่อไปที่ให้ใช้แนวทางจำกัดการใช้วัตถุอันตรายพาราควอต โดยมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเร่งออกประกาศควบคุมการนำเข้า การใช้ และการจำหน่าย จัดทำแผนปฏิบัติการขยายการทำการเกษตรที่ดีที่เหมาะสม (GAP) และ/หรือเกษตรอินทรีย์ให้ครอบคลุมทั้งประเทศภายใน 2 ปี และให้ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ หานวัตกรรมในการกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชให้ได้ภายใน 2 ปี เพื่อให้เกษตรกรปรับตัว ลด ละ เลิกใช้วัตถุอันตราย ซึ่งกรมวิชาการเกษตรต้องปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งยกเลิกหรือแบนได้ แม้จะยืนยันเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยที่จะให้ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายมนุษย์ทำเกษตรกรรม แต่หากกระทรวงเกษตรฯ สั่งยกเลิกการใช้หรือการนำเข้าเอง โดยไม่มีมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายรองรับ กระทรวงเกษตรฯ จะกระทำผิดตามกฎหมายอาญา แต่ถ้าคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดเมื่อใด กระทรวงเกษตรฯ ต้องยกเลิกทันที ไม่เช่นนั้น จะถูกฟ้องร้องได้ จึงขอให้ทุกภาคศึกษาพ.ร.บ. วัตถุอันตรายและมติที่ออกมาอย่างถ่องแท้ ก่อนตำหนิกระทรวงเกษตรฯ ในการประชุมของคณะกรรมการ วัตถุอันตรายมีกรรมการ 29 คนจากหลายหน่วยงาน โดยในส่วนผู้แทนของกระทรวงเกษตรมีเพียงอธิบดี 5 กรมเท่านั้น ยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ใช้เล่ห์เหลี่ยมหรือกดดันการพิจารณาเพื่อยื้อการยกเลิกออกไป ดังนั้นการที่บุคคลและองค์กรภาคเอกชนนำเสนอข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียตำหนิกระทรวงเกษตรฯ ในวงกว้างนั้นไม่เป็นธรรม
ส่วนกรณีที่มีการนำเสนอข้อความในโซเชยลมีเดียว่า คณะกรรมการบริหารและพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่มีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวบรวมนั้น นายอนันต์ระบุว่า ไม่เคยเห็นข้อมูลดังกล่าว อีกทั้งในการประชุมวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 62 ซึ่งนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เชิญทั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการทั้ง 2 คนร่วมหารือกับผู้บริหารกระทรวง โดยนายวิวัฒน์ไม่ได้นำเสนอรายงานหรือกล่าวถึงเลยว่า มีสารทดแทนที่ได้ผลดีและปลอดภัย ทั้งนี้กรมวิชาเกษตรได้ศึกษาถึงวิธีการปฏิบัติอย่างการใช้เครื่องจักรกลกำจัดวัชพืชแทนการใช้สารเคมีนั้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นถึง 4 เท่า หรือหากใช้สารเคมีอื่น ซึ่งยังไม่มีผลยืนยันว่า ประสิทธิภาพและระดับพิษเป็นอย่างไร ต้นทุนจะสูงขึ้นประมาณ 2 เท่าเนื่องจากพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชที่สิทธิบัตรหมดแล้ว ทำให้ผู้ผลิตหลายรายผลิตแล้วแข่งขันกันจำหน่าย ราคาจึงถูกกว่าสารอื่น
นายอนันต์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการด่วนที่สุดให้จำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดทันที โดยเร่งให้ความรู้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้จำหน่าย เกษตรกร ผู้ประกอบการ ลูกจ้างรับฉีดพ่นสารเคมี จัดตั้งคณะอำนวยการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมีระดับกระทรวง โดยมีปลัดกระทรวงเป็นประธาน อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเป็นเลขานุการ ต้องรายงานผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน ให้กรมวิชาการเกษตรสำรวจสต็อกสาร 3 ชนิดทั้งจากผู้นำเข้าและร้านจำหน่ายซึ่งถูกระบุว่า มีการกักตุนสารเคมีเหล่านี้ไว้เป็นจำนวนมาก จึงต้องตรวจสอบให้ชัดเจน โดยให้ทราบผลเร็วที่สุดเพื่อยืนยันให้สาธารณชนมั่นใจในการลดการนำเข้า รวมทั้งให้เร่งจัดทำแผนขยายทำการเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP รวมทั้งเกษตรอินทรีย์ให้ครบ 149 ล้านไร่ ภายในเดือน 31 ธันวาคมปีหน้า -สำนักข่าวไทย