น่าน 24 ม.ค.- พัฒนาการชุมชนจังหวัดน่านเตรียมลงพื้นที่บ้านร้องแง หาข้อเท็จจริงปัญหาร้องเรียนวัสดุอุปกรณ์มอบชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ไม่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ท้องถิ่น แม้ได้รับคำชี้แจงจากอำเภอปัวแล้ว
กรณีชุมชนบ้านร้องแง ต.วรนคร อ.ปัว จ.น่าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านตามโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยวโอทอปนวัตวิถีกรมพัฒนาชุมชน ร้องเรียนหลังได้รับวัสดุอุปกรณ์จากโครงการ ทั้งโปสเตอร์และแผ่นพับประชาสัมพันธ์ เครื่องนอน และอื่น ๆ เพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชนไม่ตรงอัตลักษณ์ท้องถิ่น
นางพิสมัย ชมเชย พัฒนาการจังหวัดน่าน เปิดเผยว่า หลังจากกรมพัฒนาชุมชนได้รับข้อร้องเรียนดังกล่าว จึงสั่งให้เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ซึ่งหมู่บ้านร้องแงเป็น 1 ใน 2 หมู่บ้าน ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการโครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี โดยงบประมานส่งผ่านให้ทางอำเภอปัวเป็นผู้ดำเนินการตามกรอบกิจกรรมตามเอกลักษณ์ บริบทของแต่ละชุมชน เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่คนในชุมชน จากการตรวจสอบเบื้องต้นกับพัฒนาการอำเภอปัว ซึ่งได้ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการตามกรอบกิจกรรมทั้งการสร้างความเข้าใจ การอบรม พัฒนาผู้นำชุมชน กองทุนหนุนเสริม และพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว ส่วนโปสเตอร์และแผ่นพับประชาสัมพันธ์เป็นส่วนของกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ซึ่งได้จัดพิมพ์แผ่นพับหมู่บ้าน 10,000 แผ่น ราคาแผ่นละ 2 บาท และโปสเตอร์หมู่บ้านละ 7,300 แผ่นๆละ 5 บาท เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ตลอดทั้งปี ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับจังหวัด และระดับประเทศ โดยปริมาณสั่งพิมพ์มีผลให้ได้ราคาถูกลงด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของวัสดุสินค้าที่ระลึกก่อนสั่งผลิตได้สอบถามความต้องการชุมชนแล้ว และวัสดุสนับสนุนโฮมสเตย์ที่เป็นเครื่องนอนสไตล์วิถีไทลื้อได้สั่งผลิตกับชุมชนบ้านเก็ต ต.วรนคร อ.ปัว ซึ่งเป็นอีก 1 ของหมู่บ้านที่ได้รับการคัดเลือกเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเช่นกัน และที่ไม่ได้จ้างบ้านร้องแง ผลิตนั้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างทางราชการ อย่างไรก็ตาม จะเข้าตรวจสอบวัสดุต่างๆ ที่ส่งมอบต่อชุมชนอีกครั้งว่าเป็นไปตามข้อร้องเรียนของทางชุมชนหรือไม่ และเร่งหาแนวทางแก้ไข พร้อมทำความเข้าใจกับหมู่บ้าน
นางพิสมัย อธิบายว่า โครงการหมู่บ้านท่องเที่ยว โอทอป นวัตวิถี จังหวัดน่านนั้นดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน 2561 ใน 15 อำเภอ รวม 63 หมู่บ้าน งบประมานเบิกจ่าย 32 ล้านบาท สามารถดำเนินการกรอบกิจกรรมด้านการสร้างเข้าใจ กองทุนหนุนเสริม อบรมแกนนำ ข้อมูลชุมชน นักเล่าเรื่องชุมชน หมู่บ้านโฮมสเตย์ ได้ตามแผนงาน 100 เปอร์เซ็นต์ ครบทั้ง 63 ชุมชน ส่วนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวดำเนินการไปได้ 75 เปอร์เซ็นต์ การพัฒนาสินค้าชุมชน-บริการ 55 เปอร์เซ็นต์ และพัฒนาภูมิทัศน์ทำได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ การขับเคลื่อนโครงการด้านต่าง ๆ ได้มากหรือน้อยเป็นไปตามศักยภาพ และความพร้อมของแต่ละหมู่บ้านด้วย.-สำนักข่าวไทย