ปทุมธานี 14 ม.ค. – กรมธนารักษ์เปิดตัวรถให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ นำร่อง 14 จังหวัด กระตุ้นเหรียญกษาปณ์ที่อยู่ในมือประชาชนเกิดการหมุนเวียนเพิ่มขึ้น สามารถลดต้นทุนผลิตเพิ่มประมาณ 86 ล้านบาท
นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ หรือ Mobile Coin Unit เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการแลกคืนเหรียญกษาปณ์ได้มากขึ้น โดยจัดสร้างรถบรรทุกขนาดใหญ่ 2 คัน จะออกให้บริการในจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่มีศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์รวม 14 จังหวัด ซึ่งครั้งแรกจะให้บริการในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยาระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์นี้ จากนั้นจะขยายพื้นที่ให้บริการไปในจังหวัดปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง 12 จังหวัด
อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้จ่ายเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดราคาประมาณปีละ 3,000 ล้านเหรียญ และมีเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดราคาอยู่ในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 32,000 ล้านเหรียญ มูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท ขณะที่มีการแลกคืนเพียงร้อยละ 30 ซึ่งช่วยลดต้นทุนกรมธนารักษ์ไม่ต้องผลิตใหม่ประมาณ 1,400 ล้านบาท ซึ่งการให้บริการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์เคลื่อนที่ โดยนำรถออกไปให้บริการในพื้นที่ต่าง ๆ จะช่วยให้ประชาชนนำเหรียญมาแลกคืนสะดวกขึ้นและสามารถลดต้นทุนการผลิตเพิ่มประมาณ 86 ล้านบาท
สำหรับ 12 จังหวัดที่จะให้บริการเพิ่ม ได้แก่ นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐมอ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก และสระบุรี โดยตั้งเป้าหมายการรับแลกคืนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทุกชนิดราคาเดือนละ 5 ล้านเหรียญ หรือปีละ 60 ล้านเหรียญ
นายอำนวย กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมธนารักษ์ยังเดินหน้าปรับค่าเช่าที่กรมธนารักษ์ จากเดิมปรับร้อยละ 1 ต่อปี จะเปลี่ยนฐานการปรับใหม่ โดยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-4 ต่อปีบนพื้นฐานของมูลค่าทรัพย์สิน (ROA) ปัจจุบันให้เช่าที่ประมาณ 400,000 ไร่ จากภาพรวมทั้งหมด 12 ล้านไร่ ส่วนใหญ่ใช้โดยส่วนราชการ สำหรับพื้นที่ให้เช่าส่วนใหญ่ 400,000 ไร่ จำนวน 170,000 สัญญา การปรับราคาเน้นในส่วนของการเช่าเพื่อพาณิชย์ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ส่วนอีกร้อยละ 80 เป็นการเช่าเพื่อการเกษตรและอยู่อาศัยยังไม่ปรับค่าเช่า การปรับค่าเช่าจะได้รายได้เพิ่มประมาณ 600 ล้านบาท ทำให้รายได้ส่วนนี้จากเดิมได้ปีละประมาณ 9,000 ล้านบาท เพิ่มเป็นประมาณ 10,000 ล้านบาท
ส่วนการเดินหน้าโครงการลงทุนในที่ราชพัสดุ ก็จะมีการเดินหน้าพัฒนาด้วย ได้แก่ โครงการร้อยชักสาม ย่านเจริญกรุง ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะลงทุนมูลค่า 3,000 ล้านบาท ทำสัญญาแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเดือนหน้าเป็นอย่างช้า โครงการศูนย์ราชการโซน c แจ้งวัฒนะ ลงทุนเพิ่ม 30,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาหมอชิตเก่า มูลค่า 26,000 ล้านบาท โดยบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด โครงการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ที่จะปรับปรุงใหม่ มูลค่า 6,000 ล้านบาท. -สำนักข่าวไทย