ศธ.3ม.ค.- ศธ.ตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ‘ปาบึก’ ส่วนกลางและภูมิภาค 3 จุดดูแล ‘นพ.ธีระเกียรติ’ กำชับเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารจากกรมอุตุฯใกล้ชิด ให้เตรียมพร้อมตลอดเวลา ด้านเลขา กพฐ.สั่ง ผอ.สถาน ศึกษาประเมินสถานการณ์หากพบไม่ปลอดภัย ให้สั่งหยุดเรียนทันที
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเรื่องพายุปาบึก (PABUK) ทวีความรุนแรงเป็นพายุโซนร้อน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักมากในช่วงวันที่ 3-5 ม.ค.ส่งผลให้ 16 จังหวัดได้แก่ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์เเละ14 จังหวัดภาคใต้ โดยในส่วนของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งมีสถานศึกษาในพื้นที่นั้นจำนวนมาก ขณะนี้ทราบแล้วว่าพายุปลาบึกจะมีความรุนแรง และกรมอุตุฯก็ประกาศพื้นที่จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบชัดเจน ตนได้กำชับไปยังสถานศึกษาให้เฝ้าระวังสถานการณ์ และติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ศธ.ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติพายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และลดผลกระทบจากสถานการณ์จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แบ่งเป็นส่วนกลางสำนักงานปลัด ศธ.เป็นผู้รับผิดชอบและส่วนภูมิภาค 3แห่ง ได้แก่1.สำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 6 ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช รับผิดชอบ 5 จังหวัด คือนครศรีธรรมราช เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี , 2.ศธภ. 7 ตำบลลาดใหญ่ อำเภอภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต รับผิดชอบ 5 จังหวัด คือภูเก็ต ระนอง พังงาน กระบี่ และตรัง และ 3.ศธภ. 8 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา รับผิดชอบ 6 จังหวัด คือ ยะลา พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล
ขณะที่ในส่วนมาตรการป้องกันนั้น จะเป็นการเตรียมรับมือเพื่อลดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของครู นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและสถานศึกษาในสถานศึกษา ดังนี้ 1.หน่วยงานทางการศึกษาเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของพายุโซนร้อนปลาบึกจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยและศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติส่วนพายุโซนร้อนปาบึก กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมแจ้งเตือนแก่ครู นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
2.สถานศึกษาจัดทำแผนเผชิญเหตุภัยพิบัติพายุโซนร้อนปาบึก พร้อมทั้ง ให้มีการซักซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ 3.เคลื่อนย้ายทรัพย์สินของทางราชการให้อยู่ในที่ปลอดภัย 4.สถานศึกษาจัดเตรียมอุปกรณ์ยังชีพ ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน
5.สถานศึกษาวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียน นักศึกษา โดยให้เน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจผู้บริหารสถานศึกษา 6.จัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็น ต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยพิบัติ 7.สำรวจและซ่อมแซมอาคารสถานที่ ระบบไฟฟ้า-ประปา ให้มีความพร้อมต่อการรับสถานการณ์
ส่วนมาตรการบรรเทาจะเป็นการช่วยเหลือเยียวยาและรายงานผลกระทบในระหว่างและหลังเกิดภัยพิบัติต่อศูนย์ป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติพายุโซนร้อนปาบึก กระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้ 1.สำรวจความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินของครู นักเรียน-นักศึกษา ผู้ปกครองและสถานศึกษา2.ประสานความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน
3.จัดศูนย์ซ่อม สร้าง เพื่อชุมชน (Fix it center )เคลื่อนที่ไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบ 4.จัดอาชีวะอาสา ลูกเสือจิตอาสา ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 5.รายงานข้อมูลความเสียหายและผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามรูปแบบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และ 6.จัดทำข้อมูลเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แจ้งให้สถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดที่อาจได้รับผล กระทบเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงรวบรวมข่าวสารจากทุกช่องทาง โดยเฉพาะจากกรมอุตุฯ แจ้งผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ (Line) OBEC 2018
ขณะเดียวกันกำชับไปยังผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งอยู่ในพื้นที่เห็นเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวนาทีต่อนาที หากประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่าอาจจะเกิดความไม่ปลอดภัยก็สามารถสั่งหยุดการเรียนการสอนได้ทันที โดยไม่ต้องรอเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ ควรแจ้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้ทราบเพื่อให้อยู่ครอบครัวและเตรียม การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์การเรียน สิ่งของที่อาจจะเกิดความเสียหายไว้ที่ปลอดภัย รวมถึงให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่หากโรงเรียนตั้งอยู่ ในจุดที่ปลอดภัย .-สำนักข่าวไทย