สำนักข่าวไทย 27ธ.ค.-ผลสำรวจ ‘สวดมนต์ข้ามปี’ พบประชาชนส่วนใหญ่ทราบแล้วและตั้งใจจะไปร่วมกิจกรรมในวัดใกล้บ้าน รวมทั้งยังทราบว่าเป็นปีแรกที่จะมีประมุขสงฆ์-รัฐมนตรีของต่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา เข้าร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรก
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชน ระหว่างวันที่ 6-17ธ.ค.61 จากกลุ่มตัวอย่าง 7,691 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ ในหัวข้อ “สวดมนต์ข้ามปี ถวายเป็นพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วโลก ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีธรรม” ซึ่งผลสำรวจ พบว่าประชาชนถึงร้อยละ 78.03 ทราบว่ารัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงาน จัดสวดมนต์ข้ามปี และทราบว่าเป็นปีแรกที่ประมุขสงฆ์และประธานสงฆ์ของต่างประเทศและรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านศาสนาและวัฒนธรรมของต่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีเป็นครั้งแรก
จากการสำรวจความเห็น ยังพบว่าประชาชนร้อยละ 65.41 ตั้งใจจะไปสวดมนต์ข้ามปี (31 ธันวาคม 2561–1 มกราคม 2562) รองลงมาร้อยละ 22.25 ระบุว่าแล้วแต่สถานการณ์ และร้อยละ 12.34 ไม่เข้าร่วม
นอกจากนี้จากการสอบถามความเห็นว่าการสวดมนต์ข้ามปีมีความสำคัญ ดังนี้ 1.เพื่ออุทิศถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ 2.เพื่อสวดมนต์ให้ประเทศไทย มีความสงบสุขและมีความปรองดอง และเสริมสิริมงคลแก่ชีวิต 3.เพื่อร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป สร้างแรงจูงใจในการ ลด ละเลิก อบายมุข และงดงานสังสรรค์เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ
ขณะเดียวกันผลสำรวจ พบว่าประชาชนร้อยละ 80.91 ระบุว่าจะไปร่วมสวดมนต์ข้ามปีที่วัดใกล้บ้าน รองลงมาร้อยละ10.48 จะไปสวดมนต์สถานที่อื่นๆ อาทิ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง อุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และศูนย์ปฏิบัติธรรม และบุคคลที่จะชวนไปสวดมนต์ข้ามปีด้วยคือ ร้อยละ 50.53 ต้องการชวนพ่อแม่ ไปสวดมนต์ข้ามปี รองลงมาร้อยละ 46.79 ต้องการชวนญาติพี่น้อง ร้อยละ32.60 ต้องการชวนคู่สมรสหรือคนรัก และร้อยละ 32.34 ต้องการชวนเพื่อนและลูกหลาน
จากการสอบถามพบว่าเหตุผลที่คนรุ่นใหม่นิยมเข้าร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีมากขึ้น อันดับ1จากการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆของภาครัฐ อันดับ 2 รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนการจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี อันดับ 3 การสนับสนุน ชักชวน และเป็นแบบอย่างจากพ่อแม่ ผู้ปกครองและอันดับ 4 ตามเพื่อนหรือบุคคลที่ตนเองชื่นชอบ (ไอดอล) เช่น ดารา นักร้อง นักแสดง
ผลสำรวจพบว่า กิจกรรมที่ประชาชนสนใจเข้าร่วมในช่วงสวดมนต์ข้ามปีฯ มากที่สุด ได้แก่ 1.กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี จัดโดยกรมการศาสนาร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจัดขึ้นทั่วประเทศ 2.เข้าร่วมชมและสักการะพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปสำคัญจาก 13 ประเทศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง 3.ไหว้พระ 10 วัด สืบสิริสวัสดิ์ 10 รัชกาล ณ วัดสำคัญที่มีความเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีในกรุงเทพมหานคร ส่วนกิจกรรมสำคัญ 3 อันดับแรก ที่ประชาชนตั้งใจจะทำหลังสวดมนต์ข้ามปีหรือต้อนรับปีใหม่ คือร้อยละ 79.29 จะทำบุญตักบาตร รองลงมาร้อยละ 55.48 ขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่และเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ บุพการี และร้อยละ 32.35 จะพักผ่อนอยู่บ้าน เป็นต้น .-สำนักข่าวไทย