กรุงเทพฯ 29 พ.ย.- นักวิชาการ ชี้แบ่งเขตเลือกตั้งมีผลเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง หากมีปัญหาสามารถแก้ได้ จับตาบางพรรคอาจลาออกเพราะพื้นที่ทับซ้อน ระบุผลโพลว่าที่นายกฯ พลิกได้ตลอด
นายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึง กรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วว่า การแบ่งเขตน่าจะพิจารณาเรื่องจำนวนประชากรเป็นหลัก แต่อาจมีซิกแซก แยกตำบลนั้นไปอยู่อำเภอนี้ ต้องดูปฏิกิริยาของอดีตผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละเขต แต่ยอมรับว่าการแบ่งเขต มีผลเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง เพราะตามทฤษฎี ตำรารัฐศาสตร์มีเรื่องการใช้เขตเลือกตั้งเพื่อความได้เปรียบทางการเมือง
ส่วนการแบ่งเขตดังกล่าวที่บางฝ่ายอาจมองว่าไม่เป็นธรรมจะกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่นั้น นั้น นายทวี กล่าวว่า ในอดีตก็เคยมีเช่นประท้วงไม่ลงเลือกตั้ง แต่เห็นว่าปัจจุบันไม่ลำบากสำหรับผู้สมัครที่จะลงพื้นที่ เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้ได้เข้าถึงผู้เลือกตั้งได้ง่าย และกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จะให้เวลา 60 วันสำหรับการหาเสียง ก็น่าจะเพียงพอ เพราะเขตเลือกตั้งไม่ได้ใหญ่
“คนที่จะให้ความเห็นได้ดีที่สุดว่าการแบ่งเขตจะกระทบหรือไม่คือผู้สมัครเดิม คงต้องรอดู2-3วัน ว่าจะมีใครทะเลาะกันบ้าง หรือมีใครจะลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะไม่ได้ดังใจบ้าง เนื่องจากดูรายชื่อว่าที่ผู้สมัครแล้วยังมีบางพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่” นายทวี กล่าว และว่า โรดแม็ปเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ยังมีโอกาสและปัจจัยที่จะขยับได้ และหากมีปัญหาก็ยังสามารถแก้ไขเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้งได้ แม้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
นายทวี ยังกล่าวถึงผลการสำรวจความเห็นของประชาชนหรือโพลที่ระบุถึงบุคคลที่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ผลโพลดังกล่าว เป็นการวัดที่อยู่เฉพาะกลุ่มเฉพาะช่วงเวลา ถ้าขยับกลุ่มหรือเปลี่ยนช่วงเวลาไปก็จะมีการเปลี่ยนแปลง และมีปัจจัยแทรกซ้อนเยอะ จึงเป็นเพียงการดูแนวโน้มกว้างๆ เพราะสามารถพลิกได้ตลอด.-สำนักข่าวไทย