ทปอ.20 พ.ย.-ทปอ.ถกร่วมมหาวิทยาลัยรอบ 2 หลังป.ป.ช.ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สิน ยันอธิการบดี-รองอธิการบดียื่นครบทุกคน ระบุกรรมการสภาลาออกเหตุผลส่วนตัว ไม่ใช่ปกปิดทรัพย์สินหรือเอี่ยวทุจริต ขณะที่กลุ่มสถาบันอาชีวะ-วิทยาลัยชุมชน เพิ่งรู้ตัวต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วย
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือประเด็นประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ครั้งที่ 2 ว่า มีตัวแทนทปอ. ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.)ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สถาบันอาชีวศึกษา สังกัด สำนักงานคณะกรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) และสถาบันวิทยาลัยชุมชน(วชช.)มาหารือกับประกาศ ป.ป.ช. อีกครั้ง หลังจากป.ป.ช. มีมติแก้ไขปัญหาให้ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์และหนี้สินแก่นายก และกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมถึงตำแหน่งประธานสภา รองประธานสภา และกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า ไปอีก 30 วันจากเดิมกำหนดต้องยื่นภายในวันที่ 2 ธ.ค.2561 เป็นในวันที่ 31 ม.ค. 2562 ซึ่งขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในส่วนของสถาบันอุดมศึกษา ว่าอธิการบดีและรองอธิการบดีไม่ยินยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินตามที่กำหนด ซึ่งในความเป็นจริงอธิการบดีและรองอธิการบดีได้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2560 แล้ว และที่ผ่านมา ทปอ.มีการแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าสนับสนุนป.ป.ช.ในเรื่องที่อธิการบดีและรองอธิการบดีจำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจึงอยากสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ เฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับมหาวิทยาลัยถ้านายกและกรรมการสภาฯ ลาออก เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายภายหลังจากการรับตำแหน่ง ซึ่งเป็นเหตุผลส่วนบุคคลว่าแต่ละคนจะมีความพร้อมในการยื่นบัญชีทรัพย์สินอย่างถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับการปกปิดทรัพย์สินหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตแต่อย่างใด และในการประชุมครั้งนี้กลุ่มสถาบันอาชีวะและวิทยาลัยชุมชนก็ได้เข้าร่วมหารือด้วยเพราะเพิ่งทราบว่า อาจจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
นายสุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีนายกและกรรมการสภาฯ ยื่นลาออกไปจำนวนเท่าไร มีแต่ที่เล่าๆกันมา แต่เท่าที่เห็นก็มีจำนวนไม่น้อยซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยก็พยายามวิงวอนขอให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ช่วยมหาวิทยาลัยต่อไป แต่คาดว่าจะรู้ตัวเลขที่ชัดเจนหลังจากที่มีการประชุมสภามหาวิทยาลัยไปแล้ว คาดว่าส่วนใหญ่จะประชุมในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้ ทปอ.จะประสานขอเข้าพบคณะกรรมการป.ป.ช.เพื่อชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากประกาศให้ยื่นบัญชีทรัพย์สินฉบับนี้ เพื่อหาหนทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาต่อไป
ด้านนายจิตรนรา นวรัตน์ อธิบดีอัยการสำนักงานคณะปราบปรามการทุจริตภาค 2 กล่าวว่า ตามประกาศป.ป.ช. ได้กำหนดว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง”จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามประกาศ ซึ่งรวมถึงผู้บริหารที่มีตำแหน่งเทียบเท่าด้วย อย่างผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษา นั้นตาม พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา กำหนดว่าเป็นตำแหน่งที่เทียบเท่ากับอธิการบดี รวมถึงรองผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษาก็เป็นฝ่ายบริหาร ซึ่งกลุ่มนี้น่าจะรู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ก็ยังมีอีกหลายตำแหน่งที่ยังไม่รู้ว่าตัวเองว่าอยู่ในเงื่อนไขที่จะต้องยื่นบัญชีด้วย เช่น นายกและกรรมการสภาสถาบันอาชีวศึกษา 23 แห่ง รวมถึงของ วชช.ด้วย ดังนั้นผู้บริหารกลุ่มนี้จึงมาคุยกัน และเชื่อว่าหลังจากนี้กลุ่มอาชีวศึกษาจะออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนขึ้น แม้สถาบันอาชีวศึกษาจะมีสถานะเทียบเท่าสถาบันอุดมศึกษา แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าบทบาทของ นายกและกรรมการสภาสถาบันอาชีวศึกษา มีหน้าที่ดูเรื่องทางวิชาการเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณ รวมถึงการโยกย้ายผู้บริหาร เพราะอำนาจส่วนนี้ถูกกำหนดไว้ที่ส่วนกลาง คือ สอศ.ดูแล ดังนั้นจึงเป็นอีกกรณีที่ ป.ป.ช.จะต้องมาทบทวนด้วย.-สำนักข่าวไทย