กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – ซีพีเอ็นจับมือต่างชาติดันไทยศูนย์กลางธุรกิจโคเวิร์กกิ้งแห่งใหม่ในอาเซียน พร้อมแตกไลน์สู่ธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซ แบรนด์ “Common Ground”
นายณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพฮับและการเป็นศูนย์กลางของธุรกิจโคเวิร์กกิ้งแห่งใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซีพีเอ็นจึงร่วมทุนกับ Common Ground Group แบรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ภายใต้แบรนด์ “คอมมอน กราวด์” (Common Ground) ซึ่งถือเป็น the New Generation of Innovative Coworking Community ที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการหัวคิดใหม่ที่ดีที่สุดแห่งแรกในไทย
นายณัฐกิตติ์ กล่าวว่า การเข้าสู่ธุรกิจนี้ซีพีเอ็นตั้งเป้าทุ่มงบ 800 ล้านบาท เปิด 20 สาขา ใน 5 ปี เปิดสาขาแรกต้นปีหน้า เพื่อตอบรับเทรนด์ coworking space และ sharing economy กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลกและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องใน 10 ปีข้างหน้า
นายอิศเรศ จิราธิวัฒน์ ผู้อำนวยอาวุโส ฝ่ายขายซีพีเอ็น กล่าวว่า เทรนด์ของโคเวิร์กกิ้งสเปซในไทยขณะนี้มีกลุ่มบริษัทโคเวิร์กกิ้งสเปซระดับนานาชาติเข้ามาปักหมุดและลงทุนไทย จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ เมกะเทรนด์ไลฟ์สไตล์การทำงานของผู้คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปตาม Technology และ Flexibility โดยต้องการพื้นที่ทำงานที่มีความเป็น Collaborative Workspace รวมถึงการลดต้นทุนทางธุรกิจ ทำให้รูปแบบการทำงานของผู้ประกอบการและบริษัทใหญ่ ๆ ทั่วโลกจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยคาดว่าตลาด coworking space ในเอเชียจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 30 ในปี 2573 จากปัจจุบันมีตลาดอยู่ที่ร้อยละ 2 อีกส่วน คือ อัตราการเติบโตของตัวเลขเอสเอ็มอีในไทย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงร้อยละ 8-10 ต่อปี มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยกว่า 1 ใน 6 มีธุรกิจในกรุงเทพฯ หรือคิดเป็นกว่า 500,000 ราย โดยเอสเอ็มอีเหล่านี้ล้วนแต่มองหาสถานที่ทำงานในทำเลที่ดี หรือ prime location แต่การเข้าถึงออฟฟิศให้เช่าเกรด A ในกรุงเทพฯ เป็นไปได้ยากและมีราคาสูงเช่นเดียวกับบริษัทใหญ่ที่ต้องการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้โคเวิร์กกิ้งในรูปแบบของ “Common Ground” จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในเข้าถึงสถานที่ทำงานรูปแบบใหม่ หรือ โคเวิร์กกิ้งสเปซที่เต็มไปด้วยบริการมาตรฐานเกรด A แต่ยังตั้งอยู่ในทำเลศักยภาพเปี่ยมไปด้วยเครือข่ายทางธุรกิจ
นายเออร์แมน อะคินซี หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Common Ground และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Common Ground กล่าวว่า การเปิดตัว Common Ground ในประเทศไทยนี้ถือเป็นการเปิดตัวในต่างประเทศเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคนี้ โดยจะเป็นรีจินัลแฟลกชิพแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 4,500 ตร.ม. ซึ่งจะตั้งอยู่ใน Bangkok CBD ซึ่งโคเวิร์กกิ้งสเปซรูปแบบใหม่นี้จะทำให้ผู้ประกอบการหรือบริษัทใหญ่ต่าง ๆ สามารถลดต้นทุน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างออฟฟิศแบบถาวรตั้งอยู่ใน Prime location ทำให้ติดต่องานและหมุนเวียนเปลี่ยนโลเคชั่นได้สะดวก
นายจุน เตียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Common Ground กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า Common Ground ตั้งเป้าจะเติบโตกว่า 3 เท่าทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยจะมีจำนวนสาขาทั่วประเทศกว่า 20 สาขา โดยกว่า 10 สาขาจะตั้งอยู่บน Prime Location ในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในอาคารสำนักงานที่เชื่อมต่อกับศูนย์การค้าของซีพีเอ็น หรืออาคารสำนักงานให้เช่าอื่น ๆ รวมถึงสาขาในหัวเมืองสำคัญ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และ พัทยา เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการในโลเคชั่นของเราได้ทั้งในและต่างประเทศ
มร.เตียว กล่าวเพิ่มเติมว่า Common Ground เป็นรูปแบบใหม่ของโคเวิร์กกิ้งสเปซในประเทศไทย โดยจับกลุ่มเป้าหมายคนทำงานรุ่นใหม่ ได้แก่ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มสตาร์ทอัพและฟรีแลนซ์ 80% และกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความต้องการทำงานในโคเวิร์กกิ้งสเปซ 20% การขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทยในครั้งนี้ จึงมุ่งเข้ามาเพื่อสร้างสรรค์ไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ให้กับคนไทย เพื่อตอบรับ 6 เทรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 ทั่วโลกอีกด้วย ทำให้ Common Ground เป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซเต็มรูปแบบที่ตอบโจทย์เทรนด์ระดับโลกทั้ง 6 ประการ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย
สำหรับ 6 เทรนด์โคเวิร์กกิ้งสเปซที่จะเกิดขึ้นปี 2562 ทั่วโลก ได้แก่ ในระดับนักลงทุนธุรกิจโคเวิร์กกิ้ง คือ เทรนด์การเข้ามาลงทุนทำ Coworking space จะเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความครบครันให้กับโครงการในรูปแบบมิกซ์ยูสของกลุ่มบริษัทอสังหาริมทัพย์ และเทรนด์โลคัลแอคโกลบอล หรือ การผสมผสานอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของผู้ประกอบการในท้องถิ่นเข้ากับความเชี่ยวชาญการจัดการในระดับนานาชาติจากโกลบอลแบรนด์
ส่วนผู้ประกอบการยุคใหม่เกิดจากกระแส Work-Life Balance ในคนยุคใหม่ เทรนด์การชอบใช้พื้นที่การทำงานที่สามารถปรับเปลี่ยนได้และช่วยจุดประกายต่อยอดโอกาสธุรกิจ (Flexible & Hyper Competitive Space) เทรนด์ความต้องการเชื่อมต่อเน็ตเวิร์กด้วยเทคโนโลยีและระบบบล็อคเชนในพื้นที่การทำงาน และเทรนด์ที่กลุ่มบริษัทใหญ่ๆ (Corporate) เริ่มมองหาพื้นที่การทำงานในรูปแบบใหม่เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ให้กับองค์กร รวมถึงเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ.- สำนักข่าวไทย