ทำเนียบฯ 16 ต.ค. – ครม.เปิดทางเอสเอ็มอีสมัครเป็นสมาชิกหอการค้า มีกฎหมายรองรับผ่าน พ.ร.บ.หอการค้า-สมาคมการค้า หน้าที่ของหอการค้า เพื่อให้ทำสัญญากับภาครัฐ หนุนเข้า สนช.ให้ทันสมัยนี้
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติหอการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติสมาคมการค้า (ฉบับที่ ) พ.ศ. …. รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ มีสาระสําคัญ
เนื่องจาก พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน และการค้าระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปมาก กลุ่มอาเซียนรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานอย่างเสรี เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งและความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จะทำให้เอสเอ็มอี วิสาหกิจ สามารถรวมตัวกันเป็นสมาคมการค้า ๆ ได้ไปเป็นสมาชิกของหอการค้าทั่วประเทศ 76 แห่ง และหอการค้าต่างประเทศ รวมกันแล้ว 116 แห่ง และมีสมาคมการค้า 2,872 สมาคมทั่วประเทศ
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.หอการค้าได้เพิ่มบทนิยาม “สมาคมการค้า” เพื่อให้ครอบคลุมถึงสมาคม ซึ่งจดทะเบียน…. ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการค้า อาชีพอิสระ อุตสาหกรรม การเงิน หารายได้มาแบ่งปันกันในฐานะสมาชิกสามัญของหอการค้าได้ การเพิ่มหน้าที่ของหอการค้า เพื่อให้ทำสัญญากับภาครัฐ มีอำนาจในการเป็นพยานรับ ลายมือชื่อของบุคคลในเอกสารที่มีผู้ขอรับรอง (Notary Public) และจัดส่งเสริมการค้าบริการตามที่มีกฎหมายระบุให้เป็นหน้าที่ของหอการค้า หรืออาจร่วมมือกับองค์กรอื่น โดยมีการจัดสรร ค่าตอบแทนระหว่างกันได้
การปรับปรุงบัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้าย พ.ร.บ. เดิมใบอนุญาตหอการค้า ฉบับละ 500 บาท เพิ่มเป็น 2,000 บาท ใบแทนใบอนุญาตหอการค้า เดิมฉบับละ 50 บาท เพิ่มเป็น 200 บาท การขอตรวจหรือคัดเอกสาร เดิมครั้งละ 5 บาท เป็น 50 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสมาคมการค้าฉบับละ 500 บาท เป็น 1,500 บาท ใบแทนใบอนุญาตสมาคมการค้า เดิมฉบับละ 50 บาท เพิ่มเป็น 200 บาท การขอตรวจหรือคัดเอกสาร เพิ่มครั้งละ 5 บาท เป็น 50 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการ
นายณัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีกำชับว่าหลังจากนี้การขึ้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตด้านต่าง ๆ ต้องไม่มีผลกระทบกับประชาชน ไม่ทำให้ประชาชนได้รับความลำบากมากขึ้น หลังจากนี้จะส่งร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป .-สำนักข่าวไทย