กรุงเทพฯ 12 ก.ย. – ธนาคารออมสินชูผลสำเร็จพัฒนาฐานราก รักษาเอกลักษณ์ท้องถิ่น และก้าวทันยุคสมัย ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยประชาชน และ GSB Startup Academy พร้อมสานต่อปี 62
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นประธานเปิดงาน “ส่งมอบกิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและการนำเสนอแนวทางการทำงานร่วมกัน โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน และโครงการ GSB Startup Academy” โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา 69 แห่ง รวม 280 คน เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อถอดบทเรียนการดำเนินงานของปี 2561 ให้เป็นแนวทางการดำเนินงานในปี 2562
นายชาติชาย กล่าวว่า งานวันนี้เป็นการส่งมอบงาน “ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” กิจกรรมเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ปี 2561 เหมือนเป็นการส่งการบ้านครู หลังจากครูให้การบ้านไปก็มีการส่งการบ้าน เพื่อรายงานความคืบหน้าและนำเสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในปีต่อไป นอกจากนี้สถาบันอุดมศึกษายังได้มีการนำผลิตภัณฑ์/บริการ 105 ผลิตภัณฑ์ มาจัดแสดงและจำหน่าย พร้อมกับบูธนิทรรศการของหน่วยงานภาคี ประกอบด้วย กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสมาคมเพื่อนชุมชนอีกด้วย ซึ่งผลของการจัดงานวันนี้จะนำไปสู่การเสริมสร้างความรู้ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ความยั่งยืนของชุมชน นำไปสู่การดำเนินงานให้บรรลุผลตามเป้าหมายร่วมกันปี 2562
สำหรับปี 2561 โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น เป็นการเสริมความมั่นคงในอาชีพและรายได้ การมีวินัยทางการเงินและศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น พบว่า มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม 1,150 คน กลุ่มองค์กรชุมชน 105 กลุ่ม มีสมาชิกชุมชน 950 คน และ มีผู้รับประโยชน์ 3,150 ครัวเรือน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ส่วนโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน เป็นโครงการที่ธนาคารออมสิน ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคม และโครงการ GSB Startup Academy เป็นความร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา พันธมิตรเครือข่าย เพื่อพัฒนาน้อง ๆ นิสิตนักศึกษา ให้มีแนวคิดทางด้านธุรกิจ สู่ผู้ประกอบการ Startup และ SMEs ในอนาคต มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 20 แห่ง
สำหรับการจัดงานวันนี้ (12 ก.ย.) เป็นผลสืบเนื่องจากธนาคารออมสินกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อให้ประชาชนก้าวพ้นความยากจน ผ่านแนวทาง 3 สร้าง ได้แก่ แนวทางที่ 1 การสร้างความรู้/อาชีพ ดำเนินการผ่าน 3 โครงการ คือ โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการมหาวิทยาลัยประชาชน และการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการใหม่นั้นแนวทางที่ 2 การสร้างตลาด/รายได้ โดยธนาคารออมสินร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเอกชน ส่งเสริมและยกระดับพื้นที่ค้าขายทั้งตลาดสด การค้าริมทางในจุดผ่อนผันรวมทั้งเริ่มพัฒนาตลาดสินค้า Online รวมทั้งเพิ่มบริการทางการเงินเพื่อให้ผู้ค้าได้เข้าถึงแหล่งทุนในการหมุนเวียนในกิจการ หรือลงทุนเพิ่ม ซึ่งมีทั้งสินเชื่อ Street Food และสินเชื่อโฮมสเตย์ และแนวทางที่ 3 เป็นการสร้างประวัติทางการเงินและการส่งเสริมการออม โดยการออก QR Code ให้ผู้ค้าได้ใช้ในการรับเงินจากผู้บริโภคเข้าบัญชีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้มีทั้งเงินออมและเริ่มมีประวัติทางการเงินกับธนาคาร
นายชาติชาย กล่าวว่า ธนาคารได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา 69 แห่งทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้แก่ผู้มีรายได้น้อย เน้นการส่งเสริมและพัฒนาระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง มีความมั่นคง ตามแนวทาง “สานพลังประชารัฐ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษา สร้างภาวะความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา ผ่านโครงการ GSB Startup Academy และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โดยการให้นักศึกษาเข้าร่วมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่ม OTOP ด้วยการนำความรู้สมัยใหม่ ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ชุมชน นำความรู้ไปพัฒนาบ้านเกิด “เสือคืนถิ่นสิงห์คืนถ้ำ” ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างรายได้สร้างอาชีพให้แก่สมาชิกชุมชน.-สำนักข่าวไทย