สะพานขาว 31ส.ค.-สศช.แถลงสภาวะเศรษฐกิจและสังคมไทยไตรมาส2 ปี 2561 อัตราการจ้างงานดีขึ้น การชำระหนี้สินครัวเรือนดีขึ้น แต่คดีอาชญากรรมไม่ลดลง พบปัญหาคดียาเสพติดเพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป นิยมเช่าอาพาร์ทเมนต์พัก หวั่นปัญหาเก็บภาษีในอนาคต
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พร้อมด้วยนางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการ สศช.แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี2561 โดยระบุ ความเคลื่อนไหวของสังคมไทยในไตรมาส 2 ภาพรวมอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ0.9 โดยเป็นภาคการเกษตรคงที่ร้อยละ3 ขณะที่ภาคนอกการเกษตรทรงตัว อัตราการว่างงาน ลดลงเหลือร้อยละ1.1 และพบว่ามีอัตราการจ้างงานที่ดีขึ้นในสาขาอุตสาหกรรมการผลิต
ขณะที่การส่งออกสินค้าและการบริโภคภายในประเทศขยายตัวดี ทำให้การจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ขณะที่การค้าปลีกและส่งลดลง เพราะคนหันมานิยมซื้อขายออนไลน์
ส่วนปัญหาการว่างงานในผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา พบว่ามีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานในไตรมาส 3 ปี 2561 จะมีประมาณ 3.2 แสนคน ส่งผลให้จะมีสัดส่วนนักศึกษาว่างงานส่วนหนึ่ง เนื่องจาก แต่ละปีมีนักศึกษาจบใหม่ราว 5แสนคน โดยพบว่า สาขาที่มีอัตราการจ้างงานน้อย ไม่ตรงความต้องการตลาดแรงงาน ได้แก่ สาขาสังคมศาสตร์ จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการเรียนให้ตรงกับตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มอาชีวะศึกษา ซึ่งในอนาคตคาดว่าอัตราการจ้างงานจะได้รับต่าตอบแทนสูงเท่าการเรียนปริญญาตรี
ส่วนปัญหาหนี้สินครัวเรือน พบว่ามีแนวโน้มดีขึ้นและยังมีความสามารถในการชำหนี้ โดยส่วนใหญ่มีการกู้ยืมและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ ทำให้มียอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ8.0 ขณะที่สัดส่วนการชำหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อลดลงเหลือร้อยละ2.78 และพบว่าค่าใช้จ่ายในการซื้อบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง โดยบุหรี่ลดลง ร้อยละ 2.4 เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ร้อยละ 1.3
ส่วนปัญหาด้านสังคมพบว่าอัตราการเจ็บป่วยของคนไทยในไตรมาส 2 นี้ พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น 2 เท่าและยังมีโรคไข้หวัดใหญ่ที่อัตราการป่วยเพิ่มขึ้นจึงต้องมีการควบคุมและเฝ้าระวัง
สำหรับปัญหาคดีอาชญากรรมภาพรวม พบว่าเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปี2560 โดยปีนี้2561พบเพิ่มขึ้นร้อยละ34.1 ในจำนวนนี้เป็นคดียาเสพติดถึงร้อยละ46.5 ในขณะที่คดีชีวิตร่างกายและเพศและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ลดลงร้อยละ3 และร้อยละ9.2 และยังพบว่าปัญหาอุบัติเหตุจราจรเพิ่มขึ้นร้อยละ23.3
ขณะเดียวกันสถานการณ์ผู้ต้องขังในเรือนจำพบว่า มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาความแออัดและคุณภาพของผู้ต้องขัง โดยพบว่าทั่วประเทศมีผู้ต้องขังรวม 355,543 คน ขณะที่ขีดความสามารถของเรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้แค่ 200,000 คน และร้อยละ 70 ของผู้ต้องขังในเรือนจำ มาจากคดียาเพสติด ดังนั้นจะต้องมีการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย เพิ่มการควบคุมพฤติกรรม
สำหรับการศึกษาสถานการณ์สังคมที่สำคัญและเกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการท่องเที่ยว ได้แก่ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงนิยมจองที่พักเปลี่ยนไปเป็นอพาร์ทเมนต์ หรือที่เรียกว่าAirbnb จึงจำเป็นต้องหามาตรการมารองรับ เนื่องจากในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีและเรื่องความปลอดภัย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวAirbnb มากถึง 774,000 คน และที่พักในระบบนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 100 มีจำนวนมากถึง 43,223 แห่ง .-สำนักข่าวไทย