สำนักข่าวไทย 18 ก.ย.-เครือข่ายแรงงาน จับตาผลศึกษาสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ หลังมติบอร์ดค่าจ้างครั้งล่าสุด ยังไม่สรุปผลการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 60
นายชาลี ลอยสูง รักษาการประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ(บอร์ดค่าจ้าง) ซึ่งมี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดฯเป็นประธาน มีมติให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กลับไปศึกษาสูตรคำนวณใหม่ โดยให้เวลา 1 เดือน และคาด ต.ค.นี้ ได้ข้อสรุปอัตราใหม่ ก่อนมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค.2560 นั้น ขณะนี้ คสรท.และเครือข่ายแรงงาน ก็รอผลศึกษาดังกล่าว หลังจากนั้นจะพิจารณาร่วมกันกำหนดแนวทางขับเคลื่อนต่อไป
อย่างไรก็ตามจุดยืนของเครือข่ายยังยืนยัน เหมือนเมื่อครั้งยื่นหนังสือก่อนการประชุมครั้งที่ผ่านมา คือคัดค้านการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายจังหวัด แต่ให้ขึ้นเท่ากันทั้งประเทศ
“รอที่ประชุมมีมติปรับสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ก่อนเป็นอย่างไร เป็นที่ยอมรับของสังคมหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจ ยังไปได้อยู่ บริษัทขนาดใหญ่ยังมีกำลังการจ่าย ” นายชาลีกล่าว
ทั้งนี้ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ประธานบอร์ดค่าจ้าง ให้สัมภาษณ์ผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 8/2559 ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า จากการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2560 หลังให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ศึกษาอัตราค่าจ้างโดยอาศัย 3ปัจจัย คืออัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และค่าครองชีพ ในแต่ละพื้นที่ พบยังมีบางประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อ เพราะบางพื้นที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงกลับไม่ขอขึ้นแต่บางพื้นที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกลับขอขึ้นค่าจ้าง
นอกจากนี้จาก 3 ปัจจัยที่นำมาวิเคราะห์ยังถือว่าไม่เพียงพอ เพราะตามที่กฎหมายกำหนดมีทั้งหมด 10 ปัจจัย ประกอบกับสูตรที่คำนวณอัตราค่าจ้างก็ใช้มานานกว่า 10 แล้ว ที่ประชุมจึงมีมติให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ เร่งหาสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างใหม่โดยนำปัจจัยอื่นเข้ามาเป็นหลักในการพิจารณาเพิ่ม นอกจากอัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้างและค่าครองชีพ อีกทั้งยังศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเพื่อให้เกิดความครอบคลุมทุกมิติและเหมาะสมสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะใช้เวลาในการหาสูตรใหม่ประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะนำสูตรที่ได้มาคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายจังหวัดตามข้อมูลที่คณะอนุกรรมการจังหวัดนำเสนอมา คาดรู้ตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ภายในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ก่อนนำเสนอเข้า ค.ร.ม.และประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศ 1 มกราคม 2560
ส่วนประเด็นที่ คสรท.เรียกร้องให้ปรับขึ้นเท่ากันทั้งประเทศและต้องปรับขึ้น 360 บาทนั้น บอร์ดค่าจ้างจะพิจารณาจากข้อมูลที่เป็นความจริง และเป็นความเห็นชอบจากทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง ไม่ใช่รัฐเพียงฝ่ายเดียว .-สำนักข่าวไทย