กรุงเทพฯ 23 ส.ค. – กรมการขนส่งทางบกยืนยันกำหนดโทษ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ 5 หมื่นบาท ไม่พกใบขับขี่มาจากฐานข้อมูล พ.ร.บ.ฉบับเดิม ขณะที่ความคืบหน้า พ.ร.บ.รถยนต์ฉบับใหม่เตรียมนำเสนอ ครม.
นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาตรา พ.ร.บ.ขนส่งฉบับใหม่ที่กำหนดโทษสูงสุดของผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรโดยไม่พกใบอนุญาตขับขี่ กำหนดโทษปรับ 50,000 บาท จำคุก 3 เดือน เป็นโทษที่ค่อนข้างสูงนั้น กรมฯ ขอชี้แจงว่าที่มาของการกำหนดโทษดังกล่าวมาจากฐานกำหนดโทษ พ.ร.บ.เดิม เนื่องจาก พ.ร.บ.ขนส่งฉบับใหม่เป็นการนำกฎหมายของ พ.ร.บ.รถยนต์และ พ.ร.บ.ขนส่งฉบับเดิมเข้าด้วย โดย พ.ร.บ.รถยนต์ที่บังคับใช้กับผู้ขับรถทั่วไปกำหนดโทษไม่พกพาใบขับขี่จะมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน ขณะที่ พ.ร.บ.ขนส่งฉบับเดิมใช้บังคับผู้ประกอบการขนส่งและรถยนต์เชิงพาณิชย์กำหนดโทษไม่พกพาใบขับขี่ โดยมีอัตราโทษปรับ 40,000 บาท และจำคุกไม่เกิน 2 ปี ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.เดิม จึงมีการกำหนดโทษทั้งจำและปรับใน พ.ร.บ.ใหม่
ทั้งนี้ ยืนยันว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดโทษของฐานความผิดไม่พกพกใบขับขี่นั้น เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตจำนวนมาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยและการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงเพื่อบังคับใช้กฎหมายทั้งโทษจำและปรับของตำรวจนั้น กฎหมายจะเปิดช่องให้มีการใช้ดุลพินิจให้สอดคล้องกับสภาพ เช่น กรณีจับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่มีใบอนุญาตจะใช้ดุลพินิจโทษปรับให้เหมาะสม เพราะคงเป็นไปไม่ได้จับและปรับผู้ขี่รถจักรยานยนต์จำนวนเงินสูง ๆ ขณะที่ความคืบหน้า พ.ร.บ.ขนส่งฉบับใหม่ ขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนข.) โดย สนช.สามารถปรับปรุงแก้ไขและรับฟังข้อท้วงติงจากฝ่ายต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา คาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
นายกมล กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเด็นเมื่อมีผู้กระทำผิดกฎจราจรถูกบันทึกภาพและส่งไปให้ผู้กระทำผิดรับทราบและชำระค่าปรับ โดยมีแนวคิดเชื่อมโยงข้อมูล เพื่อให้ผู้กระทำผิด แต่ไม่ยอมไปเสียค่าปรับ ไม่สามารถทำธุรกรรมต่อภาษีประจำปีรถยนต์คันดังกล่าวได้นั้น กรมฯ ยอมรับว่าได้มีการเตรียมข้อมูลจัดระบบหรือซอฟต์แวร์ แต่ข้อกฎหมายยังอยู่ระหว่งการพิจารณารายละเอียด คาดว่ายังมีประเด็นต้องศึกษาเพิ่มอีกครั้ง
ทั้งนี้ นโยบายกำหนดบทลงโทษผู้ไม่มีใบอนุญาตขับขี่ให้สูงนั้น เป็นไปตามแนวทางที่กระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบกต้องการแก้ไขปัญหา เพื่อนำผู้ขับรถที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าสู่ระบบและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนอย่างตรงจุด เนื่องจากสถิติที่ผ่านมาเห็นได้ชัด เช่น กรณีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนทั่วประเทศมากกว่า 10 ล้านคัน ปัจจุบันพบว่ามีผู้มาทำใบขับขี่เพียง 2-3 ล้านคนเท่านั้น หรือมีประชาชนขับรถจักรยานยนต์ไม่มีใบอนุญาตถึง 7-8 ล้านคน ขณะที่แต่ละปีอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เกิดจากรถจักรยานยต์ทั้งสิ้น และเทศกาลสำคัญทั้งสงกรานต์และปีใหม่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง.-สำนักข่าวไทย