กรุงเทพ ฯ 19 ก.ย.- นายกฯ ร่วมประชุมสมัชชายูเอ็น 20-23 ก.ย. เตรียมแสดงวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทาง พร้อมรับเชิญจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าร่วมประชุมแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2559 ว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นปีพิเศษ ที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุม ในฐานะประธาน G 77 ด้วย โดยที่ประชุมจะหารือถึงเป้าหมายของการพัฒนา ซึ่งเป็นวาระการพัฒนา 2030 ของสหประชาชาติ
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถ้อยแถลง แนวทางที่จะทำให้ประชาคมโลก บรรลุเป้าหมายการพัฒนาร่วมกัน โดยจะนำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมจัดนิทรรศการให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เยี่ยมชมภายในสำนักงานองค์การสหประชาชาติด้วย
“ในช่วง 2 ปีที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ นายกรัฐมนตรีได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสนอในเวทีการประชุมระดับนานาชาติสำคัญหลายเวที ทำให้หลายประเทศให้ความสนใจและสอบถาม เพื่อนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้พัฒนาประเทศของตัวเองให้เกิดความยั่งยืน” พล.ต.วีรชน กล่าว
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ที่ประชุมจะหารือเรื่องสุขภาพ การต่อต้านการดื้อยา ที่กำลังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาคมโลกในวงกว้าง เพราะการใช้ยาอย่างผิด ๆ โดยเฉพาะการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ และกำลังเป็นปัญหาลุกลามส่งผลกระทบด้านความั่นคงของมนุษย์ เรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่แต่ละประเทศต้องแบกภาระแก้ไข
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมจะหารือเรื่องการบังคับใช้ความตกลงปารีสที่ลงนามไปเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือปัญหาโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบวงกว้างต่อทั้งโลก ทั้งเรื่องฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง และหมู่เกาะต่าง ๆ ที่กำลังมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า การร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งนี้ ยังจะเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีบอกเล่า ถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามโรดแมปของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมีโอกาสร่วมประชุมครั้งสำคัญของโลกหลายครั้ง ซึ่งเป็นโอกาสดีที่นายกรัฐมนตรีได้พบกับผู้นำหลายประเทศ ซึ่งผู้นำเหล่านั้นไม่ได้สอบถามปัญหาภายในประเทศไทย แต่สิ่งแรกที่จะพูดกับนายกรัฐมนตรี คือการแสดงความยินดีต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แสดงถึงความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐบาลตามโรดแมป
“นานาชาติรับทราบว่า ขั้นตอนการลงประชามติของไทย ไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นขั้นตอนที่รัฐบาลนำเสนอให้เกิดขึ้น ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทย ในการจะกลับไปเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ซึ่งต่างประเทศติดตามเราอยู่ การไปต่างประเทศแต่ละครั้งของนายกรัฐมนตรี ทำให้มีโอกาสได้ชี้แจงความคืบหน้าที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แม้ว่าประเด็นต่าง ๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ อาจจะครบบ้าง ไม่ครบบ้าง ด้วยปัจจัยใดก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงให้เกิดควมเข้าใจ” พล.ต.วีรชน กล่าว
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นอกจกการร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติแล้ว นายกรัฐมตรีจะเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก ที่ริเริ่มโดยนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยเชิญประเทศที่มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย และการโยกย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่อย่างผิดปกติเข้าร่วมหารือ
“การเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่ทุกประเทศที่เข้าประชุมสหประชาชาติจะได้เข้าประชุมด้วย แต่เป็นการประชุมที่ต้องได้รับเชิญเท่านั้น การที่นายกรัฐมนตรีได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย สะท้อนให้เห็นถึงบทบทสำคัญที่สหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติมองว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญ ที่จะดูแลปัญหาผู้ลี้ภัย และปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างผิดปกติ” พล.ต.วีรชน กล่าว
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจะพูดถึงการดำเนินการของไทยที่ผ่านมา ซึ่งบทบาทของไทยกับผู้ลี้ภัยมีมาหลายสิบปีแล้ว โดยรับผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบถึง 200,000 คน จัดตั้งศูนย์แรกรับตามพื้นที่ชายแดนอย่างน้อย 9 แห่ง ซึ่งการดำเนินการของไทยที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ได้มีเรื่องใหม่เกิดขึ้น คือเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานผิดปกติ ซึ่งมีมูลเหตุ 2 ประการหลัก คือ ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ
“นายกรัฐมนตรีจะชี้ให้เห็นว่า ไทยมีกระบวนการคัดกรองว่า กลุ่มไหนเดือดร้อนจริง หรือกลุ่มไหนเรื่องเศรษฐกิจ กลุ่มไหนเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ ซึ่งที่ผ่านมาภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง นายกรัฐมนตรีจะเล่าให้ที่ประชุมทราบถึงแนวทางดำเนินการ ทั้งการปรับแก้กฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย” พล.ต.วีรชน กล่าว
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ส่วนการดูแลผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเป้าหมายของคนเหล่านั้น แต่เป็นประเทศกลางทาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาว่า ประเทศต้นทางจะทำอย่างไร ให้คนเหล่านั้นได้รับการดูแล และไม่มีความคิดจะโยกย้ายออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด ทำให้เขารู้สึกว่าสามารถอยู่ในบ้านเมืองตัวเองได้อย่างมีความสุข ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกับประเทศต้นทาง
“ในส่วนของประเทศไทย จะต้องดูแลเรื่องการเตรียมความพร้อม โดยดูแลเรื่องการศึกษา เพิ่มพูนทักษะ ให้คนเหล่านั้นไปประกอบอาชีพได้ เมื่อกลับบ้านเมืองตัวเอง หรือไปประเทศที่สาม การดูแลด้านสุขภาพ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยต่อปัญหานี้ เพราะนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและต้องได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้องให้ความสนใจที่สาเหตุของปัญหา และต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง” พล.ต.วีรชน กล่าว .- สำนักข่าวไทย