กรุงเทพฯ 3 ส.ค. – กบอ.นัดแรกรับทราบความคืบหน้าโครงการลงทุนหลักในอีอีซี การรถไฟฯ ศึกษาส่วนต่อขยายโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่มีแผนขยายเส้นทางจากอู่ตะเภาไปอีก 30 กม.ไปยังระยอง
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 1/2561 ว่า กบอ.แต่งตั้งภายใต้ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน รับทราบความคืบหน้าโครงการหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะ 1 (ช่วงท่าอากาศยานดอนเมือง ถึง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา) ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนและขายเอกสารการคัดเลือกฯ มีบริษัทเอกชนสนใจซื้อเอกสารการคัดเลือกฯ 31 ราย จาก 7 ประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้ผู้แทนบริษัทเอกชนที่ซื้อเอกสารคัดเลือกฯ ตรวจสอบเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ (Due Diligence) จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2561 โดยขั้นตอนต่อไปจะประชุมชี้แจงเอกสารคัดเลือกครั้ง 2 วันที่ 24 กันยายน 2561 และเปิดรับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอ 12 พฤศจิกายน 2561 จากนั้นจะมีการประกาศผลผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินและผ่านการเจรจา และลงนามสัญญาร่วมลงทุนของโครงการฯ ภายในไตรมาส 1 ปี 2562 และเปิดให้บริการโครงการฯ ประมาณปลายปี 2566
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะ 2 (ช่วงต่อขยายจากท่าอากาศยานอู่ตะเภาผ่านจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด) ขณะนี้อยู่ขั้นตอนของการเตรียมการพัฒนาโครงการภายใต้กรอบเวลาดังนี้ จัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาและออกแบบโครงการฯ ส่วนต่อขยายและลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาภายในตุลาคม 2561 และเริ่มศึกษาและออกแบบโครงการฯ ส่วนต่อขยายพฤศจิกายน 2561
โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ระยะ 1 ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกครั้งที่ 2/2561 วันที่ 10 สิงหาคมนี้จะพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบหลักการของโครงการฯ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการฯ และวงเงิน ซึ่งคาดว่าจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุน (ขายซอง) ภายในเดือนกันยายน 2561 พร้อมทำการคัดเลือกและเจรจาต่อรองกับเอกชนเสร็จ รวมถึงจะมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชน / ลงนามสัญญา ภายในเดือนธันวาคม 2561 โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ปี 2564
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 รับทราบความก้าวหน้าและแผนการดำเนินการในการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มประสิทธิภาพให้พร้อมรองรับการขยายตัวของปริมาณสินค้าทางน้ำ และทางบก การขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าทางรถไฟ โดยใช้ระบบการจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ (Automation) โดยเป้าหมายการพัฒนาท่าเรือสินค้าประเภทตู้ ปัจจุบันรองรับได้ 11.1 ล้าน TEU พัฒนาเสร็จปี 2567 เพิ่มเป็น 18.1 ล้าน TEU ท่าเรือสินค้ารถยนต์จากปัจจุบันรองรับ 2 ล้านคัน เพิ่มเป็น 3 ล้านคัน ท่าเรือชายฝั่งระหว่างประเทศ 0.3 ล้าน TEUไม่เปลี่ยนแปลง ท่าเรือชายฝั่งภายในประเทศ จากเดิมไม่มี พัฒนาเสร็จปี 2567 รองรับได้ 1 ล้าน TEU สินค้าตู้ผ่านทางรถไฟ ปัจจุบันรองรับ 2 ล้าน TEU ภายหลังพัฒนาเสร็จปี 2567 รองรับได้ 6 ล้าน TEU
ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนอีกครั้งภายหลังจากที่เปิดรับฟังไปแล้ว 2 ครั้ง โดยการประชุมครั้งที่ 3 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาเนื้อหาการพิจารณายังไม่ครอบคลุมตามประกาศของ สกพอ.ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการ ในการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน พ.ศ. 2560 จึงมีความจำเป็นในการจัดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งภายในเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับแผนงานดำเนินโครงการปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการการท่าเรือฯ และเพื่อเสนอต่อคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความเห็นตามกระบวนการของประกาศ EEC track คาดว่าจะสามารถดำเนินการออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งขั้นตอนต่อไปกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในต้นเดือนมกราคม 2562 และเสนอขอความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 รับทราบความก้าวหน้าและแผนดำเนินงานการ ซึ่ง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และที่ปรึกษาโครงการได้ดำเนินการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลว ให้บริการรูปแบบท่าเทียบเรือสาธารณะซึ่งมีแนวทางการพัฒนาโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพของท่าเรือเพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า ความสามารถในการรองรับการขนถ่าย (Capacity) จากปี 2560 รองรับก๊าซธรรมชาติได้ 10 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 20 ล้านตันต่อปีในปี 2597 ก๊าซธรรมชาติ สินค้าเหลวผ่านท่าเทียบเรือสาธารณะ ปัจจุบันรองรับได้ 6 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็น 10 ล้านตันต่อปี
กนอ.ได้เปิดสัมมนาการรับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ไปแล้ว 2 ครั้ง และจะเปิดรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนครั้งที่ 3 รวมทั้งจะมีการสรุปรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA Report) ในเดือนสิงหาคม2561 และจะออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดว่าจะได้ผลการคัดเลือกเอกชนภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีครึ่งปีแรก (ม.ค.ถึง มิ.ย.) ปี 2561 มีผู้ประกอบการเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีจำนวนทั้งสิ้น 142 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนรวม 183,230 ล้านบาท หรือร้อยละ 67 ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 122 เทียบกับมูลค่า 77,069 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา 19 โครงการ จังหวัดชลบุรี 74 โครงการ และจังหวัดระยอง 49 โครงการ
ทั้งนี้ มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย คิดเป็นเงินลงทุนรวม 175,149 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุต์สาหกรรมใหม่ (New S-curve) มูลค่า 161,811 ล้านบาท จำแนกเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีมูลค่าการลงทุน 161,245 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมอากาศยาน อุตสาหกรรมดิจิทัล ตามลำดับ.-สำนักข่าวไทย